ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกิดเสียงโจมตีกระทรวงสาธารณสุขพอสมควรว่าในการบริหารงานของวอร์รูมจัดการสถานการณ์การชุมนุมที่โรงพยาบาลสงฆ์มีปัญหา เนื่องจากการบริหารจัดการที่ล่าช้าและสับสน

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า หน้าที่ของวอร์รูมแห่งนี้ ได้แก่ การประสานงานกับมูลนิธิกู้ชีพและสั่งการให้รถพยาบาลออกไปทำหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงประเมินว่าในแต่ละวันมีการชุมนุมในจุดใดบ้างและรถพยาบาลจะสามารถเข้าไปรับได้ในจุดใดที่ใกล้พื้นที่มากที่สุด ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำงานกันเต็มที่และเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานหนัก เพราะต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินคนหนึ่ง ระบุว่า แม้ความตั้งใจจากกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนที่ไม่ชัดเจน เข้าไม่ถึงพื้นที่ปะทะจริงๆ และไม่ได้มีการวางแผนกับคนในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลและบริเวณแยก พล. 1 ซึ่งในจุดนี้มูลนิธิกู้ชีพที่ได้รับการประสานงานจากแกนนำผู้ชุมนุมด้วยตัวเองทำงานได้ดีกว่าและใกล้ชิดกับเหตุการณ์กว่า

ขณะเดียวกัน สธ.เองก็คุ้นเคยเฉพาะเจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาลของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้เซตระบบการประสานงานกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ขณะเดียวกันเมื่อทีมของแพทย์ชนบทเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องการให้ สธ.สั่งการอยู่แล้วเพราะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาก่อนนั่นจึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะทีมแพทย์ชนบทไม่รู้จักพื้นที่ว่าจะส่งคนไข้ไปที่โรงพยาบาลใด และทีมที่ขึ้นมาก็ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทีมแพทย์ชนบทจึงมีหน้าที่เป็นทีมแพทย์ปฐมพยาบาลเฉพาะกิจในเวทีการชุมนุมแทน ซึ่งก็ผิดเจตนารมณ์เช่นกัน เพราะหน่วยปฐมพยาบาลเหล่านี้ ควรจัดหาโดยสำนักการแพทย์ของกรุงเทพมหานครหรือกระทรวงสาธารณสุขจัดทีมไว้

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าชมรมแพทย์ชนบทได้รับการร้องขอจากผู้ชุมนุมให้ช่วยดูแลผู้ป่วยในที่ชุมนุมเนื่องจากมีคนป่วยจำนวนมากและแพทย์ในพื้นที่ไม่เพียงพอโดยในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ อาจประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

สรุปบทเรียนยกนี้ ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ในช่วงพักยกการชุมนุมจึงถึงเวลายกเครื่องใหม่ขอแนะนำ สธ.แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างให้ดี เพราะชีวิตประชาชนนั้นสำคัญที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 ธันวาคม 2556