ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยมะเร็งเตรียมเฮ สปสช.เดินหน้าบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุน ทั้งตรวจคัดกรองฟรี รักษาให้ยามาตรฐานเดียว

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ" นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปทรงเปิดสถาบันมะเร็งแห่งชาติในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2511 เป็นต้นมา โรคมะเร็งจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตลอดตั้งแต่ปี 2541 สิ่งสำคัญต้องเร่งป้องกันมากกว่าการรักษา โดยกรมได้ให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 จัดทำเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็งครอบคลุม 7 ด้าน ตั้งแต่การป้องกัน การตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา การดูแลแบบประคับประคอง สารสนเทศโรคมะเร็ง และการวิจัยโรคมะเร็ง นำไปใช้ใน โรงพยาบาลทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยเดิม ไปจนถึงโรงพยาบาลระดับจังหวัด อย่างโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมะเร็งในภูมิภาคของกรมการแพทย์ ทั้งหมดเพื่อเน้นการบริการและการป้องกันรักษาอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเฉลี่ยในอัตรา 98.5 คนต่อ 1 แสนประชากร โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 1 คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี รองลงมาเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก   อันตรายจากโรคมะเร็ง สิ่งสำคัญมากกว่าการรักษา คือ การป้องกัน ดังนั้นงานวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติประจำปี 2556 ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ จึงเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและการควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ โดยจะให้ความรู้แก่ประชาชนในการตระหนักถึงภัยโรคมะเร็ง และเน้นการตรวจคัดกรองเป็นสำคัญ เพราะหากพบโรคแต่แรกเริ่ม โอกาสการรักษาให้หายหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีย่อมมีสูง

นพ.วีรวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับงานวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ จะจัดขึ้นที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 9 และวันที่ 11-13 ธันวาคม 2556 โดยมุ่งเน้นให้ความรู้โรคมะเร็ง 5 อันดับแรกที่พบมากในคนไทย ได้แก่ 1.มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งเต้านม 4.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และ 5.มะเร็งปากมดลูก รวมทั้งจะให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารก่อมะเร็ง และอาหารต้านมะเร็ง และยังมีบริการให้ความปรึกษาทางการแพทย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยประชาชนที่สนใจสามารถจองที่นั่งได้ที่ โทร.0-2354-7025 ต่อ 2241

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันโรคมะเร็งชนิดไหนพบมากที่สุด นพ.วีรวุฒิกล่าวว่า โรคมะเร็งที่พบมากยังคงเป็นมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี พบมากในภาคกลาง ภาคอีสาน   โดยมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี จริงๆ เป็นมะเร็งคนละชนิด แต่เมื่อมีการตรวจวินิจฉัยมักจะพบพ่วงกัน โดยมะเร็งทางเดินน้ำดี เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ส่วนมะเร็งตับ อาจเกิดได้ทั้งจากเซลล์ตับโดยตรง ซึ่งตัวเซลล์ตับสัมพันธ์กับการเกิดตับแข็ง และไวรัสตับอักเสบบี

วันเดียวกัน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกแห่งไปนั้น ล่าสุดได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาการบูรณาการมะเร็งสามกองทุน เนื่องจากเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยสูง และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง โดยขณะนี้ สปสช.ในฐานะเจ้าภาพในการดำเนินการได้เสนอร่างการบูรณาการสิทธิรักษามะเร็ง 3 กองทุนแล้วเสร็จ โดยได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว จากนี้เหลือเพียงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นพ.วินัยกล่าวว่า การบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุนนั้น จะเน้นในกลุ่มมะเร็งที่พบมาก คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยจะเน้นบูรณาการ 3 เรื่อง คือ 1.การตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยเดิมจะตรวจฟรีเพียงมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก แต่ในการบูรณาการครั้งนี้จะเพิ่มมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ 2.การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวทุกกองทุน โดยหากเป็นมะเร็งระยะใดก็ตาม อย่างระยะที่ 1 ก็จะต้องใช้ยาตามชุดมาตรฐานที่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำว่ากองทุนใดรักษาดีกว่า และ 3.การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง กรณีนี้จะดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจะครอบคลุมมะเร็งทุกชนิด กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยกลับไปบ้านก็จะมีการตรวจเยี่ยมและให้ยาแก้ปวดกรณีเจ็บปวดมาก แนวทางนี้จะช่วยทั้งเรื่องกำลังใจที่ต้องการกลับไปอยู่บ้าน มีครอบครัวอยู่ใกล้ๆ ขณะเดียวกันก็จะได้รับการดูแลอย่างประคับประคองให้เจ็บปวดจากโรคน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางดังกล่าวจะดำเนินการได้เมื่อใด นพ.วินัยกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ การนำเข้า ครม. คงต้องอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. พิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการเพียง สปสช. ผู้เดียว แต่เป็นการร่วมกันของคณาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญการเรื่องมะเร็งจากหลากหลายสถาบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สปสช. ระบุว่า แนวโน้มและการคาดการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในปี 2556-2558 พบว่า ทุกสิทธิ ทั้งสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 12,539 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระบบหลักประกันสุขภาพ 9,235 คน และผู้ป่วย มะเร็งตับทุกสิทธิ จำนวน 13,279 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยมะเร็งปอดทุกสิทธิมีจำนวน 10,281 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยทุกสิทธิในมะเร็งปากมดลูก จำนวน 8,844 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 6,514 คน มะเร็งทุกสิทธิลำไส้ใหญ่ มีจำนวน 21,002 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 15,593 คน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 ธันวาคม 2556