ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -'ประดิษฐ'เสียงอ่อนประกาศค่าตอบแทนหมอฉบับใหม่ส่อแห้ว เหตุยุบสภา หวั่น รบ.รักษาการไร้สิทธิอนุมัติ ด้านแพทย์ชนบทย้ำจุดยืนไม่เอา'ประดิษฐ-ณรงค์'

วันที่ 10 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีประกาศค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ฉบับ 8 และกรณีพิจารณาตามผลปฏิบัติงานพ่วงคุณภาพงาน หรือ พีฟอร์พี (Pay for Performance) ฉบับ 9 ที่ผ่านการพิจารณาและรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่ถูกยุบสภาจะเดินหน้าอย่างไรว่า เรื่องดังกล่าวต้องเข้า ครม.ซึ่งต้องถาม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ครม.มีสิทธิในการดำเนินการโครงการที่ต่อเนื่องผูกพัน หรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ทราบ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า เบื้องต้นต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนกรณียังไม่มีการใช้ประกาศไปก่อน โดยใช้รูปแบบเยียวยาผลกระทบนั่นเอง

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบท ได้หารือกับ บุคลากรโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ มีมติไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องค่าตอบแทนอีก เนื่องจากมองว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล คือ  นพ.ประดิษฐ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่มีการปฏิรูปกระทรวง แบบผิดทิศผิดทาง ไม่เพียงแต่เรื่องค่าตอบแทน แต่ยังรวมถึงการแทรกแซงระบบต่างๆ ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่หวังผลกำไร ในเรื่องการเข้าถึงยา หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ไปควบคุมการทำงานในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการแทรกแซงไปหมด ทั้งหมดจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ดังนั้น ประกาศค่าตอบแทนจะออกมาอย่างไร ชมรมไม่สนใจ ขอเพียงให้ นพ.ประดิษฐ และ นพ.ณรงค์ลาออกจากตำแหน่ง แสดงความรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีก็ยังคงรักษาการได้ แต่ทางชมรมมองว่า ไม่ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการ สธ. หรือปลัด สธ.รักษาการอีก

นพ.อารักษ์กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบท ต้องการคนกลางมาปฏิรูป สธ.ครั้งใหม่ โดย 1.ต้องปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการรับบริการ และปฏิรูปการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง อย่าให้การเมืองผูกขาดการทำงานต่างๆ 3.ปฏิรูปองค์กรอิสระ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 4.ต้องปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่แค่การกวดวิชา หรือการวัดด้วยการสอบ แต่ต้องวัดจากความคิดเห็น และ 5.ปฏิรูปกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องไม่รวมศูนย์ แต่ต้องไปอยู่กับท้องถิ่น เป็นต้น

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า หากสุดท้ายรักษาการหรือรัฐบาลใหม่ตั้งใจจะปรับเปลี่ยนประกาศค่าตอบแทน แต่ให้ใช้ในรูปแบบเดิมที่มีหมอบางกลุ่มเรียกร้องมาตลอด ทางตนจะออกมาคัดค้าน เพราะประกาศดังกล่าวไม่เป็นธรรม มีช่องว่างระหว่างวิชาชีพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 ธันวาคม 2556