ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชาติธุรกิจ -ถือเป็นปีแห่งการรุกหนักของกลุ่ม"โรงพยาบาลจุฬารัตน์" ที่มี ความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ต้นปี ได้จัดงานแถลงข่าวเผยทิศทางลงทุน ทั้งการซื้อเครื่องมือแพทย์ เปิดศูนย์แพทย์ เฉพาะทางรีแบรนดิ้ง ปรับภาพลักษณ์ของ โรงพยาบาล พร้อมประกาศเดินหน้าซื้อ กิจการ และสร้างสาขาใหม่ ๆ จนนำมาสู่การ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีการขยายเครือข่ายในรูปแบบการซื้อกิจการอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จึงเป็นการปรับตัวที่น่าสนใจของกลุ่มจุฬารัตน์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากโรงพยาบาลเล็ก ๆ ขนาด 25 เตียง ถึงปัจจุบันได้ขยับขยายสถานพยาบาลเป็น 10 สาขา จำนวนรวม 380 เตียง ล่าสุดเพิ่งเข้าซื้อหุ้น โรงพยาบาลชลเวช เป็นสัดส่วนมากกว่า 80%

วันนี้ธุรกิจภายใต้การนำของ น.พ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการ เริ่มเปิดตัวทายาทรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาช่วยบริหารมากขึ้น ที่เห็นชัดคือ "น.พ.พลสันต์ พลัสสินทร์" ในฐานะหลานชายที่เข้ามาช่วยงาน ในตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)

คุณหมอวัย 33 ปี เล่าถึงเส้นทางการทำงานด้านเฮลท์แคร์ว่า หลังเรียนจบแพทย์ศิริราช ด้านอายุรกรรม ก็ได้ปฏิบัติงาน ใช้ทุนที่โรงพยาบาลชลบุรี จากนั้นมีโอกาสศึกษาต่อด้านคอสเมติกส์ ซึ่งเป็นหลักสูตรของอเมริกา หรือ American Academy of Aesthetic Medicine เปิดสอน ในชลบุรี เมื่อร่ำเรียนจบ จึงได้เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว

พร้อมกับความรู้ด้านความงาม จึงเปิดให้บริการศูนย์เลเซอร์เป็นครั้งแรกใน โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 และจุฬารัตน์ 1 จุดเริ่มต้นจากที่ต้องการตอบโจทย์คนไข้ที่มีอยู่ จากนั้นจึงขยายฐานลูกค้าวงกว้าง และตามด้วยแผนเปิดศูนย์ศัลยกรรมความงามในอนาคต

"กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังเป็นรายใหญ่ มีสัดส่วน 60% คุณพ่อผมถือหุ้นกว่า 10% ผมเข้ามาช่วยเป็นปีที่ 6 แต่ก็มีความผูกพันและได้เห็นการเติบโตของโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มเปิด เด็ก ๆ ก็วิ่งเล่นอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ไม่ได้เรียนด้านแพทย์ และยังไม่ได้เข้ามาช่วยธุรกิจโรงพยาบาล แต่ก็ช่วยธุรกิจอื่น ๆ ของครอบครัว"

นอกจากบทบาทบริการทางการแพทย์ สิ่งที่ทำควบคู่กันไปก็คือเรียนรู้เรื่องธุรกิจ คุณหมอเล่าว่า ไม่ได้เข้าคอร์สอบรมหลักสูตรแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาศัยอ่านข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พร้อมกับเล่นหุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจการลงทุนได้ง่ายขึ้น

"เดี๋ยวนี้ข้อมูลทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้วจริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าต้องรู้จักคัดเลือกข้อมูลที่สำคัญ ก็จะช่วยให้สามารถต่อยอดได้ง่าย"

นอกจากนี้ ก็เรียนรู้จากคุณลุง (น.พ.กำพล) ซึ่งย้ำเสมอว่า การทำธุรกิจต้องมีความโปร่งใส จะมุ่งผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ปัจจุบัน อยู่ในตลาดมากว่า 20 ปี ถือเป็น "คอมมิวนิตี้ ฮอสปิตอล" (Community Hospital) โฟกัสผู้ป่วยรายได้ระดับปานกลาง ทั้งเงินสด ระบบประกันสุขภาพ ผู้ประกันตน ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาศักยภาพบริการทางการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เพื่อรักษาฐานคนไข้ในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียง และเพิ่มศักยภาพรองรับการแข่งขันของตลาด

เขาย้ำว่า นโยบายของจุฬารัตน์ ต้องการคงความเป็นโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งทุกคนให้ความไว้วางใจเข้ามารักษา ปีนี้มีปรับองค์กรภายในค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานบริการ ทยอยทำในแต่ละสาขา เพื่อตอบโจทย์คนไข้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาทิ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เน้นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพ และเป็นจุดแข็งของโรงพยาบาล

"วันนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถพัฒนาตัวเองและตอบโจทย์คนไข้ได้มากกว่ากัน"

เขาเชื่อว่าตลาดเฮลท์แคร์ยังมีโอกาสอีกมาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันสูงขึ้น โรงพยาบาลระดับกลางและไม่มีเครือข่ายจะอยู่ยากและเหนื่อยมากขึ้น เพราะเครือข่ายโรงพยาบาลระดับบน ก็ขยายเซ็กเมนต์ลงมา

"กลุ่มโรงพยาบาลระดับล่าง หรือที่เป็นนิชมาร์เก็ตจริง ๆ สามารถปลีกตัวหนีการแข่งขันได้ แต่โรงพยาบาลระดับกลางไม่ปรับตัวจะอยู่รอดยาก"

จากภาพธุรกิจโรงพยาบาลที่มีการ เทกโอเวอร์อย่างต่อเนื่อง ในมุมผู้บริหาร คนรุ่นใหม่มองว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ถ้าโอกาสเหมาะสม และหลาย ๆ อย่างลงตัว โดยการควบรวมจะเกิดขึ้น ต้องมาจากการยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย และเกิดการซินเนอร์ยี่ ทางธุรกิจ จึงจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

"ถ้าควบรวมแล้วทำให้ศักยภาพเพิ่มขึ้น ตอบสนองเรื่องบริการในละแวกนั้น ๆ ได้ดีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเกิดการพัฒนาในโรงพยาบาลและชุมชน ไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนคนเดียวจะเก่งทุกอย่าง ต้องอาศัยความสามารถจากหลาย ๆ คน เพื่อที่จะทำให้งานสาธารณสุขเติบโต มีศักยภาพแข่งขันกับประเทศอื่น"

การทำงานทุกวันนี้ ใน 1 สัปดาห์ เขาบอกว่าจะให้เวลาตัวเอง 1 วัน ในการพักผ่อนจากการทำงาน เพื่อรีเฟรชสมองให้ผ่อนคลาย พร้อมเปิดรับไอเดียใหม่ ๆ เข้ามา และมีวิธีรับมือปัญหาอย่างสร้างสรรค์

นับเป็นผู้บริหารคนรุ่นใหม่อีกคน ที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ทุกวันนี้

"ถ้าควบรวมแล้วทำให้ศักยภาพเพิ่มขึ้น ตอบสนองเรื่องบริการ ในละแวกนั้นได้ดี ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 15 ธ.ค. 2556