ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 แม้จะทำให้ตลาดการค้าการลงทุนของประเทศในภูมิภาคขยายใหญ่ขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ การแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย จากการเปิดกว้างและรวมอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวกัน "ธุรกิจโรงพยาบาล" ก็หนีไม่พ้นจากภาวะดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากจะมีโรงพยาบาลจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคมากขึ้น และอาชีพแพทย์ โรงพยาบาล ธุรกิจสุขภาพ น่าจะได้รับการจับตาเป็นพิเศษหลังการก้าวสู่เออีซี

ทันตแพทย์ฐิติ ชนะภัย ที่ปรึกษาแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลรามคำแหง ปัจจุบันรับผิดชอบทั้งเรื่อง การรักษา การให้บริการคนไข้ การพัฒนาเทคโนโลยี การให้บริการรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งการบริหารจัดการแผนกทันตกรรมของโรงพยาบาล ให้มุมมองในทั้งนี้โรงพยาบาลรามคำแหง ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว โดยเข้าร่วมทุนกับโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลสินแพทย์ และร่วมมือในด้านการรักษาเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลรามคำแหงยังมีนโยบายขยายสาขา ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่แถบชานเมืองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการรักษาคนไข้อย่างทั่วถึง

ส่วนด้านงานบริการนั้นได้ให้การดูแลคนไข้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงคนไข้ 30 บาท โดยโรงพยาบาลมีนโยบายรักษาฐานลูกค้าเก่าที่คุ้นเคยกับการรักษาแบบเดิม ในขณะเดียวกันได้นำวิวัฒนาการและเทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่มาใช้ในการดูแลคนไข้กลุ่มใหม่ด้วย เช่น แผนกทันตกรรม ได้ปรับการรักษาพยาบาล ให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันแบบบูรณาการ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของคนไข้ในด้านความสวยงามเพิ่มมากขึ้น

ทันตแพทย์ฐิติกล่าวด้วยว่า จุดเด่นของโรงพยาบาลรามคำแหง ตือ มีทั้งความเชี่ยวชาญของแพทย์และการบริการที่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และค่อยๆ ขยายออกไปจากการบอกต่อของคนไข้ด้วยกันเอง และโรงพยาบาลยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การส่งแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือเมื่อเหตุการณณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา

รวมทั้งการสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งในเรื่องบุคลากร เครื่องมือทางการแพทย์และทางด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับความเดือนร้อนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตลอดจนสนับสนุนการสร้างโรงเรียนในต่างจังหวัดอีกด้วย กิจกรรมที่ว่านี้เรามีนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่และผู้ด้อยโอกาส

ขณะเดียวกันในส่วนของแพทย์เองก็ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง ไม่หยุดแค่การเรียนรู้ด้านแพทย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งทันตแพทย์ฐิติ ได้เข้าศึกษาเอ็มบีเอ สาขาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีความมั่นใจว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ และจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนางานปัจจุบัน รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาลให้ดีขึ้น

"ในอนาคตผมอาจไม่ได้มีอาชีพเป็นทันตแพทย์อย่างเดียว แต่อาจทำธุรกิจอื่นๆด้วย ดังนั้น ได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนด้านบริหารจัดการอย่างแน่นอน ซึ่งการตัดสินใจเรียนที่ศศินทร์ เพราะเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ การเรียนที่ศศินทร์ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ เหมือนกับการเรียนต่างประเทศ อีกทั้งสามารถทำงานไปด้วยเรียนต่างประเทศ อีกทั้งสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย และยังนำความรู้ไปพัฒนาการทำงานได้ตลอดเวลา" ทันตแพทย์ฐิติกล่าว

ที่มา--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 13 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--