ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประดิษฐ" โยนข้าราชการ สธ.เดินหน้านโยบายในส่วนที่ทำได้ ชี้จะได้ไม่เสียเวลารอรัฐบาลชุดใหม่ ยันบรรจุข้าราชการ สธ.ต้องให้ กกต.และกฤษฎีกาตีความ ระบุปัญหาเรื่องค่าตอบแทนมีผลผูกพันกับงบประมาณชัดเจน ต้องรอรัฐบาลชุดหน้าอย่างเดียว

เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลรักษาการภายหลังการยุบสภา แต่มีข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายชัดเจนว่า นโยบายหรือโครงการที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรดำเนินการ ซึ่งตนได้ชี้แจงข้าราชการ สธ.แล้วว่า ให้ดำเนินการนโยบายหรือโครงการต่างๆ ตามสมควรที่ทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเวลา เพราะรัฐบาลใหม่ซึ่งไม่ว่าจะมาจากไหนอย่างไรก็ตาม จะได้ดำเนินการต่อได้ในทันที ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ เพราะถ้ามีการทำงานเตรียมการในส่วนข้าราชการประจำที่สมควรก็จะสามารถซื้อเวลาได้ในอนาคต ขอให้พิจารณาดูว่าเรื่องไหนที่เห็นว่าดีให้ดำเนินการไปก่อน ในบทบาทหน้าที่ของข้าราชการประจำ ฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาในอนาคตถ้าเห็นตรงกันในเรื่องนโนบายก็จะเดินหน้าต่อไป
       
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ในส่วน สธ. อาทิ นโยบายการบูรณาการกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา สำหรับการบรรจุบุคลากร สธ.เป็นข้าราชการที่ ครม.ได้มีการอนุมัติในหลักการจัดสรรตำแหน่ง 22,500 อัตราใน 3 ปี ระหว่างปี 2556-2558 เฉลี่ยปีละ 7,500 อัตรา ซึ่งปีงบประมาณ 2556 ได้มีการจัดสรรและดำเนินการบรรจุแล้ว และเหลืออีก 15,000 อัตรา ในปีงบประมาณ 2557-2558 จะต้องมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานกฤษฎีกาให้ชัดเจนว่า สามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ ครม.เคยอนุมัติกรอบอัตรากำลังไปแล้ว แต่จะต้องนำเข้าครม.เพื่อทราบผลการดำเนินการเป็นรายปีอีกครั้ง ทั้งนี้ ฝ่ายข้าราชการประจำจะต้องดำเนินการส่งเรื่องไปให้ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าวตีความ
       
“การบรรจุบุคลากร สธ.เป็นข้าราชการจะไม่สามารถเดินหน้าได้จนกว่าจะมีการปรึกษากับ กกต.และกฤษฎีกา ถ้าตีความว่าเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นมติ ครม.เก่าก็สามารถเดินหน้าได้ แต่หากเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เป็นการเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศฉบับที่ 8,9 ทั้งส่วนที่เป็นข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มสหวิชาชีพอื่นๆ ควรเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่จะสมควรกว่า เพราะเป็นผลผูกพันทางงบประมาณที่ชัดเจน” รมว.สาธารณสุข กล่าว