ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เราได้ยินคำว่า "พวกโลกสวย" มานานแล้ว ล่าสุดในการชุมนุมทางการเมือง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ก็นำคำนี้ไปพูดบนเวทีปราศรัย ประมาณว่า  จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ไม่ว่าพวกโลกสวยจะว่าอย่างไรก็ตาม คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ "พวกโลกสวย"เป็นอย่างไร  ไปฟังคำตอบกัน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า พวกโลกสวยจะมี 2 แบบ เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน

แบบที่ 1 ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ในกลุ่มนี้อาจจะมีคนดูแลตลอด จัดการทุกอย่างให้หมด  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ราบเรียบเป็นไปด้วยดี มีปัญหาอาจจะไม่รู้ เพราะมีคนจัดการให้เรียบร้อยแล้ว ไม่เคยยุ่งยากลำบากอะไร เห็นโลกด้านเดียวเฉพาะในมุมที่มีประสบการณ์ชีวิตเท่านั้น

แบบที่  2 เป็นเรื่อง "การมองโลกในแง่ดี" กับ "การมองโลกในแง่ร้าย"  โดยถูกปลูกฝังจากทัศนคติ การเลี้ยงดู ร่วมกับการเรียนรู้จากการใช้ชีวิต

พวกโลกสวยในแบบที่ 1 เป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิต คิดได้แค่นั้นจริง ๆเขาไม่รู้ว่าจะคิดอะไรได้มากกว่านั้น แต่สำหรับแบบที่ 2 เขาถูกปลูกฝังมา  เห็นโลกทั้ง 2 ด้าน  รู้และเข้าใจเหตุและผลว่าในสถานการณ์แบบนี้ควรใช้อะไร เมื่อไหร่ อย่างไรให้เหมาะกับสถานการณ์ เป็นประโยชน์กับตัวเอง  อย่างเวลาเหนื่อย ท้อแท้ เขาอาจคิดว่ายังมีโอกาสจะดีขึ้นได้ ส่วนคนไม่มีประสบการณ์ชีวิตไม่รู้ว่าจะคิดอะไรได้มากกว่านั้น

การมองโลกในแง่ดี  อาจเป็นเรื่องดี ในเวลาที่เราต้องการความหวัง  ความรู้สึก

ดี ๆ เวลามองไปข้างหน้า แต่ถ้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ต้องระมัดระวังจะมีปัญหา  เพราะมองด้านดีมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น  ดังนั้นอะไรที่มากเกินไป ก็ไม่ดีทั้งนั้น

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ คนที่มองโลกในแง่ดี ก็มีความหวัง

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ในด้านที่สวยงามไม่รุนแรง แม้บางคนคิดว่ามันเป็นเหมือนอุดมคติ  ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น แต่ถ้าเลือกหวังได้เขาก็หวังให้มันสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างราบรื่น ทุกคนเข้าใจกัน  ปัญหาได้รับการแก้ไข

คนกลุ่มนี้จะออกมาเคลื่อนไหวหรืออยู่เฉย ๆ ? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า  ส่วนใหญ่ค่อนไปทางเฉย แต่บางกลุ่มก็พยายามแสดงออก แต่พลังไม่ค่อยมาก คนกลุ่มนี้อาจจะดูกลาง ๆ ถ้าพวกเขาแสดงออกอาจจะเห็นการสื่อสารในอีกลักษณะหนึ่ง เช่น การสื่อผ่านภาพศิลปะ ดนตรี ใช้เพลงในการสื่อสาร  จะเห็นได้จากเพลงที่แต่งขึ้นและสื่อออกมาช่วงที่เกิดวิกฤติเพื่อให้รู้สึกว่าต้องมีมุมมองที่เป็นอย่างนี้ การสื่อสารจะมีพลังมากถ้ามีช่องทาง  เพราะกินใจความรู้สึกของคน เนื่องจากลึก ๆ ความรู้สึกของคนก็อยากเห็นอะไรที่สวยงาม

ต้องถือว่า "พวกโลกสวย"  เป็นสิ่งดี  ก็ต้องมีอย่างนี้ออกมาบ้าง ในจำนวนคนที่เฉยอยู่ อาจมีคนที่อยากจะเป็นอย่างนี้ แต่ไม่รู้จะพูดออกมาอย่างไร หรือแสดงออกอย่างไร แสดงออกแล้วมีใครเห็นด้วยหรือไม่

ส่วนตัวของหมอเริ่มพบปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว คนกลุ่มนี้เริ่มออกมาพูดหรือโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น หลังจากช่วงแรก ๆ นิ่งเฉยอยู่  คือ พอมาถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าเป็นจุดอับ คนเริ่มคิดว่าการดึงดัน ความเร่าร้อนบางทีก็ไม่ใช่คำตอบ ดังนั้น จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่ามันยังมีทางออก  และสื่อสารออกไปยังสังคม ปรากฏว่ามีคนออกมาตอบรับมากขึ้น อาจจะเป็นจังหวะอารมณ์ของคนในสังคมด้วยเช่นกันที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง