ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ภาพที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามสร้างท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง คือการปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างทันท่วงที

มองผ่านแว่นคนนอกต่อการทำหน้าที่ดังกล่าว จับต้องได้เพียงอย่างเดียวคือ การตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (วอร์รูม) ขึ้นที่โรงพยาบาลสงฆ์

ว่ากันตามข้อเท็จจริง นอกจากการตั้งวอร์รูม ประชุม ตั้งโต๊ะแถลงสถิติผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเดินสายเยี่ยมเยียนผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ไม่ปรากฏอื่นใด

คำถามที่เกิดขึ้นกลางสมรภูมิคือ เหตุใด สธ.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านสุขภาพซึ่งมีทรัพยากรเพียบพร้อมมากที่สุด จึงสำแดงบทบาทเช่นนั้น ?

การชุมนุมทางการเมืองร่วม 40 วัน บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สธ.ถูกวิพากษ์หนักในหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่ความเชื่องช้าของการทำงาน ท่าทีต่อเจ้าหน้าที่ภาคสนาม และการ “ตีกิน” ผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับบทบาทของ สธ. ต่อการชุมนุมปี 2553 และสถานการณ์มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ปี 2554

ย้อนกลับไปดูการทำงานในอดีต แขนขาด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ สธ. อยู่ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยบทบาทของ สพฉ.ในอดีต ใช้วิธีประสานความร่วมมือกับ “มูลนิธิ-หน่วยกู้ชีพกู้ภัย” ในลักษณะ “ใจแลกใจ” กล่าวคือผู้บริหารสพฉ.ในอดีต ได้ลงไปคลุกคลีทำงานเคียงบ่าเคียงใหล่กับหน่วยกู้ชีพมูลนิธิจนเป็นเนื้อเดียวกัน

“เราไม่มีทรัพยากร เราไม่มีรถพยาบาล แต่เรามีระบบการจัดการ และเรามีความร่วมมืออันดีกับหน่วยกู้ชีพ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุ เรายกหูร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหน่วยกู้ชีพ เขาก็ยินดีและเต็มที่กับเรา” นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล อดีตเลขาธิการ สพฉ.กล่าวไว้ในขณะอยู่ในตำแหน่ง

“ตอนแรกๆ ก็เข้ากันลำบาก ความสัมพันธ์ต้องใช้ระยะเวลาถึงจะสร้างขึ้นได้ จะมาคิดว่าเป็นหมอ ใส่เสื้อกราวน์สีขาว แล้วจะไปยืนสั่งๆ เขาได้ มันไม่ใช่ เขาไม่มีทางทำให้เรา กว่าเขาจะยอมรับเราต้องใช้เวลา ช่วงเหตุการณ์เสื้อแดงปี 2553 หรือช่วงน้ำท่วมปี 2554 ผมลงไปกินนอนกับเขา มื้อไหนอดก็อดด้วยกัน แบกคนเจ็บเลือดท่วมไปด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขายอมรับและให้ความร่วมมือเสมอมา” นพ.ชาตรี เล่าไว้ในอดีต

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นจนถูกตั้งป้องโจมตีในปัจจุบัน เนื่องมาจากนโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่ปรับบทบาทของ สพฉ. จากเดิมที่เป็นผู้ประสานงานและบัญชาการเหตุการณ์ (คอยจัดระเบียบรถพยาบาล จุดไหนมีมาก จุดไหนขาดแคลน ต้องการกำลังเสริมที่ใด ฯลฯ) มาเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ และคอยทำระบบประเมินคุณภาพเท่านั้น ส่วนบทบาทเดิม สธ.ดึงไปดำเนินการเองทั้งหมด

จึงไม่แปลกที่ สธ. จะไม่ได้รับการต้อนรับจากหน่วยกู้ชีพกู้ภัย หนำซ้ำปากของ นพ.ประดิษฐ ยังไปกรีดแทงความรู้สึกของอาสาสมัครเหล่านั้น โดยไประบุในงานรับมอบนโยบาย สพฉ.ว่า สพฉ.ใช้งบประมาณมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์

แน่นอนว่า งบประมาณที่ สพฉ. ใช้ ส่วนใหญ่หมดไปกับการสนับสนุนมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย นั่นทำให้อาสาสมัครทั้งหมดขุ่นเคือง และเป็นเหตุให้กรรมการ (บอร์ดสพฉ.) สัดส่วนของตัวแทนมูลนิธิประกาศขอลาออก จนที่สุดแล้ว นพ.ประดิษฐ ต้องมาขอโทษขอโพยภายหลัง

อย่างไรก็ดี เชือกที่ขาดไปแล้วจะนำมาต่อใหม่อย่างไรก็ยังมีปม

ผลพวงจากความคับแค้นในครั้งนั้น นำมาสู่การทำงานท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองเดือดในครั้งนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์ “ศิษย์เก่าสพฉ.รวมตัว” เพื่อช่วยเหลือประชาชน ก่อตั้งเป็นมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (มพฉ.) นำโดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค อดีตรองเลขาธิการสพฉ.

มพฉ.จึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการจัดระบบหน่วยกู้ชีพและรถพยาบาลในสถานการณ์การชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ สพฉ.เดิม ที่ยังศรัทธาการทำงานและอุดมการณ์เดิมเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

สอดรับกับการเคลื่อนไหวของ ชมรมแพทย์ชนบท ที่แสดงจุดยืนคัดค้านการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีประดิษฐ์ มาตั้งแต่แรกเริ่ม สั่งระดมรถพยาบาลมาจากโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเข้ากรุงมาช่วยกู้ชีพ และนัดหมายให้ไปรายงานตัวต่อ มพฉ. เพื่อรับมอบภารกิจ และพื้นที่เป้าหมาย

หากเทียบเคียงเป็น “ละครหลังข่าว” สธ.ที่เสียหน้าเพราะถูก “แย่งซีน” จึงออกอาการทนไม่ได้ เรียกตัว นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ.คนปัจจุบัน (ซึ่ง นพ.ประดิษฐ หมายมั่นปั้นมือแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่ง) ไปพบ

ไม่ทราบรายละเอียดระหว่างการเจรจา แต่ทันทีที่พูดคุยกันจบ เจ้าหน้าที่ สพฉ.ทั้งหมดถูกจำกัดบทบาททันที เป็นเหตุให้ มพฉ. ไม่มีมือไม้ในการทำงาน ที่สุดแล้วต้องยุบไปเองโดยปริยาย

จากนั้น สธ. จึงพยายามสื่อสารต่อสังคมว่าเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านแพทย์ฉุกเฉินเชิงรุกเป็นผลงานของตัวเอง

นั่นยิ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิง กับแผนปฏิบัติการท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดย นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ที่แบ่งสถานการณ์ออกเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของเหตุการณ์

แผนเอราวัณ 1 คือสถานการณ์ทั่วไปที่การแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยใช้ทรัพยากรจากโรงพยาบาล มูลนิธิ 8 แห่ง และรถพยาบาลของศูนย์เอราวัณเอง รวมรถพยาบาลทั้งสิ้น 137 คัน

แผนเอราวัณ 2 คือสาธารณภัยขนาดกลาง กทม.จำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มจาก สภากาชาดไทย และโรงเรียนแพทย์ ประกอบด้วย พระมงกุฎ ศิริราช จุฬาลงกรณ์ และรามาธิบดี

ทั้ง 2 ระดับข้างต้น กทม. มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการ ส่วน แผนเอราวัณ 3 คือสถานการณ์ที่รุนแรง จำเป็นต้องระดมกำลังจากทั้งภาครัฐและเอกชน

ส่วนนี้เอง ที่ สธ.จะเข้ามามีบทบาท

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการวอร์รูม สธ. ระบุว่า ทีมของ สธ. คือโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ มีทีมปฏิบัติการการแพทย์ชั้นสูงที่มีแพทย์ประจำการ (ทีม ALS) ทั้งหมด 6 ทีม จาก โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แห่งละ 2 ทีม

ก่อนหน้านี้ สธ. สื่อสารมาโดยตลอดว่า ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานของมูลนิธิ (BLS) ทีมกู้ชีพขั้นสูง (ALS) จากโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาค โดยได้กำชับทีมกู้ชีพว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุรุนแรง ต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของการปฏิบัติงานให้รอบคอบ

10 ธ.ค.ที่ผ่านมา (ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงลดระดับลง) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ยังคงใช้แผนเอราวัณ 2 ดำเนินการเช่นเดิม และได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากทีมแพทย์พยาบาลจากกองพันทหารเสนารักษ์ กรมการแพทย์ทหารบก อีก 14 ทีม จำนวน 59 คน ในการออกปฏิบัติการทีมแพทย์สนามเพื่อดูแลผู้ชุมนุม

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่ชัดเจน การดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินแม่งานหลักประกอบจาก 2 ส่วน หนึ่งคืออาสาสมัครกู้ภัยกู้ชีพที่มาเองด้วยจิตอาสา (มีอดีตทีมงาน สพฉ.บริหารจัดการ) อีกหนึ่งคือ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ตามแผนเอราวัณ 1 และ 2

ส่วน สธ. เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในกลไกเท่านั้น ... น่าแปลกใจที่กล้าตั้งโต๊ะแถลงผลงานอย่างครึกโครม