ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุขนับวันจะยิ่งบานปลายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เข้าทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เว้นแม้แต่การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งได้ปรากฏภาพความไม่ลงรอยกันที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงอย่างชัดเจน

เห็นได้จาก...ทั้งข่าวการใส่เกียร์ว่างของรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในการเข้ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีการตั้งวอร์รูมศูนย์ปฏิบัติป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้าเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินจากการชุมนุมที่โรงพยาบาลสงฆ์ ที่ได้ประสานร่วมกับ กทม. แม้จะมีการประชุมต่อเนื่องทุกวัน รวมถึงการระดมทีมแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรองรับสถานการณ์ 24 ชั่วโมงก็ตาม

เช่นเดียวกับข่าวการส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อดูแลผู้ชุมนุมโดยตรงจากฝั่งแพทย์ชนบท ทั้งจากโรงพยาบาลสิชล โรงพยาบาลชุมแพ และโรงพยาบาลทุ่งสง เป็นต้น โดยให้เหตุผลทนดูดายต่อการดูแลผู้ชุมนุมของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลผู้ชุมนุมไม่ทั่วถึงไม่ได้ ไม่นับรวมความสับสนในปัญหาน้ำเกลือขาดแคลนในระหว่างการชุมนุม  สิ่งเกิดขึ้นล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึง "ความแตกแยกในกระทรวงสาธารณสุขที่ระอุบนความแตกแยกทางการเมือง"

หากย้อนไล่เรียงปัญหา หลักๆ เริ่มมาจากนโยบายการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน ที่เห็นไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบวกกับตัวแทน 24 สายวิชาชีพด้านสาธารณสุข กับแพทย์ชนบท ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน" (P4P: Pay-for-Performance) มาใช้ เพื่อมุ่งกระจายค่าตอบแทนที่เป็นเงินบำรุงโรงพยาบาลให้กับบุคลากรในระบบอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบ แต่หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนใหม่นี้ กลับส่งผลกระทบต่อค่าตอบแทนของแพทย์ที่ทำงานในชนบท ทำให้ค่าตอบแทนที่เคยได้นั้นลดลง ที่ผ่านมาจึงมีเสียงคัดค้านจากฝั่งแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดภาวะการไหลออกของแพทย์ที่ทำงานในชนบท ย้ายไปทำงานยังเอกชนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแพทย์ตามมา

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งชุดดำ การบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือตกลงร่วมกัน การชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน P4P ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข และบ้านนายกรัฐมนตรี

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาแพทย์ชนบทจะกลายเป็นเสียงข้างน้อย เนื่องจากทั้ง 24 สายวิชาชีพที่รวมตัวกัน หรือเรียกในนามประชาคมชาวสาธารณสุข ต่างเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนใหม่นี้และขอให้เดินหน้า เนื่องจากมองว่ามีความเป็นธรรม โดยมีการเตรียมที่จะนำเข้าสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนชุดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เป็นเหตุให้การประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนถูกกำหนดขึ้นเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด รวมไปถึงการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากรัฐมนตรีอยู่ในฐานะผู้รักษาการเท่านั้น และในฐานะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทางการเงินได้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงได้มีการนำเรื่องนี้หารือกับทาง กกต.ว่าในฐานะรักษาการจะสามารถเดินหน้าได้หรือไม่ หรือต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คงต้องจับตาว่า ผู้บริหารชุดใหม่จะมีการเดินหน้าหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนใหม่นี้อย่างไร รวมถึงการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ธันวาคม 2556