ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - สาธารณสุข * สธ.เผยไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 ที่พบในจีน ยืนยันมีระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ทั้งในคนและสัตว์ ทำงานต่อเนื่องร่วมกัน 3 กระทรวง

จากกรณีข่าวสำนักงานควบคุมโรคของจีนรายงานเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 พบหญิงวัย 73 ปี ในเมืองหนานซาง เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 เป็นรายแรก ซึ่งไม่เคยพบการติดต่อสู่คนมาก่อน หลังจากที่พบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 เมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยหญิงดังกล่าวมีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกมาก่อน และเสียชีวิตในวันที่ 6 ธันวาคม 2556

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (19 ธันวาคม 2556) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและสุขภาพแห่งชาติของประเทศจีน (National Health  and Family  Planning Commission) ยืนยันผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 ที่ประเทศจีนครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยรายแรก ซึ่งน่าจะเป็นการติดมาจากสัตว์ จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยอาศัยอยู่ในเขตมณฑลเจียงซี มีประวัติเดินทางไปตลาดสดค้าสัตว์ปีกในท้องถิ่น เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 และเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 โดยทางการจีนได้เฝ้าระวังคนในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ขณะนี้ทุกคนไม่มีอาการผิดปกติ และจัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ติดชายแดนทุกจุด

นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก ทั้งสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 และเอช 7 เอ็น 5 ชนิดที่พบในประเทศจีน เคยพบเฉพาะสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง ในช่วงปี 2547-2549 และไม่มีรายงานผู้ป่วยติดต่อกันจนถึงขณะนี้รวมกว่า 6 ปี โดยไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ทำงานร่วมกัน 3 กระทรวงคือ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังในคน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังในนกธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สุ่มตรวจสัตว์ปีกภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนทุกสายพันธุ์ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเอาใจใส่ตรวจสอบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงทุกราย และดำเนินการสอบสวนโรค พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาสาเหตุการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเสี่ยง เช่น สัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วย ตาย หรือได้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค พร้อมทั้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันเชื้อ

ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอให้ประชาชนรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ปีก หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ กรงขังสัตว์ และพื้นตลาด ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วย มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือป่วยตาย มาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ปีก หากเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดบวมมาก่อนให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีกและประวัติการเดินทางด้วย หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. หรือผู้นำชุมชน เพื่อป้องกัน ควบคุมโรค และนำตัวอย่างสัตว์ปีกไปตรวจพิสูจน์เชื้อทางห้องปฏิบัติการต่อไป

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546-10 ธันวาคม 2556 องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกรวม 648 ราย เสียชีวิต 384 ราย ใน 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน สาธารณรัฐจิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม สำหรับสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ตั้งแต่มีนาคม-25 ตุลาคม 2556 พบผู้ป่วยทั้งหมด 137 ราย เสียชีวิต 45 ราย พบในประเทศจีนและไต้หวัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 20 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง