ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปี 2557 ยังเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสำรวจ 10 อันดับธุรกิจเด่นในปี 2557 พบว่า อันดับ 1 คือ "ธุรกิจทางการแพทย์และความงาม" จากกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการดูแลความงามมีมากขึ้น การบริการทางการแพทย์และความงามของไทยมีคุณภาพดีและราคาไม่แพงในสายตาของคนไทยและต่างชาติ, เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงก็คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและความเพียงพอของบุคลากรในการรักษา โดยเฉพาะสาขาพยาบาล รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย

ทำให้หลายค่ายโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ส่งสัญญาณการลงทุนในปีหน้าที่เน้นความระมัดระวังเป็นหลัก โดยมีตัวแปรสำคัญคือ "การเมือง"อย่างกลุ่มกรุงเทพดุสิต เวชการ หรือเครือโรงพยาบาล กรุงเทพ ผู้นำตลาดโรงพยาบาลเอกชน ที่มีเครือข่ายมากที่สุดรวม 32 แห่ง ตั้งเป้าจะสยายปีกให้ครบ 50 แห่งในปี 2558 ก็ปรับแผนเน้นดำเนินธุรกิจในปีหน้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น

"น.พ.ชาตรี ดวงเนตร" กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2556 การซื้อกิจการโรงพยาบาลและสร้างโรงพยาบาลใหม่ ยังเดินหน้าปรับปรุงและก่อสร้างต่อเนื่อง แต่ช่วงเวลาที่จะเปิดให้บริการต้องรอดูสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเลื่อนจากกำหนดเดิม หรือเลือกเปิดตัวช่วงไหนยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนปีหน้าจะต้องระมัดระวังและรัดเข็มขัดมากขึ้น

ขณะที่ "น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ ฉายภาพว่า หลังจากที่ผ่านมา เน้นซื้อขายกิจการกันอุตลุด บิสซิเนสโมเดลของโรงพยาบาลในวันนี้เปลี่ยนไป ภาพของการควบรวมจะน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะโรงพยาบาลดี ๆ ให้ซื้อมีจำนวนลดลง ที่เหลืออยู่ก็ไม่มีความต้องการขาย

ดังนั้น เชื่อว่าแนวทางขยายของแต่ละค่ายจากนี้จะเน้นการสร้างโรงพยาบาลใหม่ เพื่อตอบโจทย์ด้านศักยภาพ รวมถึง หลายค่ายหันมาใช้วิธีผนึกกำลังในแง่ ของความร่วมมือกันด้านบริการทางการแพทย์ เป็นอีกโมเดลล่าสุดที่ฮอตฮิตในปีนี้ที่เรียกว่า "เซอร์วิสเมอร์จิ้งโมเดล" (Service Merging Model) ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเกิดการซื้อขายกัน

ด้วยเงื่อนไขการซื้อกิจการที่จำกัดมากขึ้น ทำให้แนวโน้มของโรงพยาบาลเอกชนจากนี้จะเห็นการเปิดตัว "บิสซิเนสโมเดล" ใหม่ ๆ ออกมา เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และการขยายตัวทางธุรกิจ

นอกจากภาพการลงทุนของกลุ่ม โรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้ว ในปี 2556 จะเห็นว่าเครือขนาดกลางและขนาดเล็กก็มีการขยับตัวอย่างคึกคักเช่นกัน โจทย์ใหญ่ คือ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงโอกาสจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่จะช่วยเพิ่มฐานคนไข้ต่างชาติในไทยและคนที่ทำงานแถบอาเซียน โดยเฉพาะอินโดจีน

ค่ายที่ปรับตัวแรงคือ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ขนาดกลาง-เล็ก ตั้งแต่ 20-100 เตียง ซึ่งตลอดปีนี้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการรักษาเฉพาะทาง โดยเปิดศูนย์หัวใจครบวงจร พร้อมเสริมทีมแพทย์ที่มี ชื่อเสียงอย่าง น.พ.วิรุณ โทณะวณิก ผู้เชี่ยวชาญทางมะเร็งต่อมลูกหมาก จากอเมริกา มาช่วยดูแลคนไข้และ ฝึกอบรมแพทย์

ทั้งยังมีแผนลงทุนศูนย์ศัลยกรรมให้มีความครบวงจร หากได้รับการตอบรับดีก็สนใจต่อยอดไปสู่โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านความงาม เป็นโมเดลเดียวกับ โรงพยาบาลยันฮีใน 2-3 ปีข้างหน้า

"น.พ.กำพล พลัสสินทร์" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า ในอนาคตโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีจุดขายชัดเจน หรือวาง โพซิชันนิ่งดูแลลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มีโอกาสที่จะอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

เพื่อรองรับการขยายตัว ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬารัตน์ยังได้นำบริษัทเข้า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อระดมทุนครั้งใหญ่ และทำให้ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นของโรงพยาบาลชลเวชไม่น้อยกว่า 80% คิดเป็นงบฯลงทุน 50-60 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลขนาด 20 เตียง

พร้อมลงทุนโรงพยาบาลใหม่เพิ่มอีกแห่งที่ปราจีนบุรี พื้นที่กว่า 10 ไร่ บริเวณถนนสาย 304 เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน ใช้งบฯก่อสร้างรวมที่ดิน 300 ล้านบาท

"น.พ.กำพล" ระบุว่า ถือเป็นการกลับมาลงทุนในรอบ 10 ปีของกลุ่มจุฬารัตน์ ซึ่งทิศทางจากนี้จะขยายให้ได้ปีละ 1 สาขา ส่วนโรงพยาบาลเดิมมีโครงการส่วน ต่อขยาย เพิ่มพื้นที่บริการและจำนวนเตียงอีกแห่งละ 50 เตียง จากที่มี 100 เตียง ก่อสร้างอาคารใหม่เป็นตึก 5 ชั้น ทยอยปรับปรุงในส่วนของจุฬารัตน์ 3 จุฬารัตน์ 9 และจุฬารัตน์ 11

ส่วนแผนลงทุนปี 2557 เตรียมงบฯไว้ 400-500 ล้านบาท สำหรับโครงการส่วน ต่อขยาย และมีแผนหาเครือข่ายโรงพยาบาลต่างจังหวัด ทั้งรูปแบบเข้าไปถือหุ้น และส่งต่อคนไข้เพื่อขยายฐานลูกค้า

"เราเน้นบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร ถ้าลดรายจ่าย กำไรก็มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่รายได้เท่าเดิม อย่างลงทุนเครื่องสลายมะเร็ง 1 เครื่อง ใช้ส่งต่อคนไข้จากสาขาอื่น ๆ ทั้งของเราเองและโรงพยาบาลพันธมิตร หรือกรณีศูนย์หัวใจครบวงจรที่ลงทุนไป ก็เปิดเป็นศูนย์รับส่งต่อหัวใจมีโรงพยาบาลร่วมกว่า 40 แห่ง ทำให้คุ้มทุนเร็วและใช้ประโยชน์สูงสุด"

อีกค่ายที่ปรับตัวอย่างชัดเจนคือ โรงพยาบาลบางโพ ซึ่งไม่มีนโยบายขายกิจการให้กับเครือใหญ่ แต่ใช้วิธีผนึกพันธมิตร โดยในปีนี้ได้จับมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพเปิดศูนย์หัวใจในโรงพยาบาลบางโพ ทำให้การบริการทางการแพทย์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยปีหน้าเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เตรียมงบฯ 200-300 ล้านบาท เพื่อสร้างตึกใหม่

ขณะที่โรงพยาบาลนนทเวชซึ่งมีเพียง 1 สาขาในปัจจุบัน ก็ได้รีโนเวตพื้นที่ด้านในเพื่อรองรับลูกค้า และในปีนี้ก็ได้ซื้อที่ดินบริเวณติดกันขนาด 4 ไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

วันนี้จึงเป็นยุคที่ค่ายเล็กและกลาง ที่แม้จะเสียเปรียบด้านเครือข่ายและความครบวงจร พยายามปรับตัวและหา "จุดขาย" ของตัวเอง ด้วยการชูความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเจาะลูกค้า "นิชมาร์เก็ต" เพื่อความอยู่รอด

เมื่อทุกค่ายทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เดินเกม รุกตลาดเต็มที่ ปีหน้าจึงเป็นอีกปีที่การแข่งขัน ในธุรกิจ "โรงพยาบาลเอกชน" เต็มไปด้วยความดุเดือดและคึกคักไม่แพ้ปีนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 29 ธ.ค. 2556