ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายคนคงไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุกับคนในครอบครัว หรือแม้แต่คนรู้จัก เพราะอาจนำมาซึ่งการสูญเสีย อุบัติเหตุทางท้องถนนถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประเทศไทย องค์การอนามัยโลก จัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)ได้เปิดเผยสถิติความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คนต่อปี โดยในปี พ.ศ.2555 เพียงปีเดียวมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 14,059 คน ขณะเดียวกันยังพบสถิติผู้พิการรายใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 คน โดยพบว่าส่วนใหญ่มีอาการบาดเจ็บทางสมองร่วมด้วย

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เวลาเพียงเสี้ยววินาทีนั้นมีค่ามากสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือในช่วงเทศกาลมีอุบัติเหตุมากกว่าปกติ การช่วยเหลือทำได้ไม่ทั่วถึง ผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งต้องเสียชีวิตเนื่องจากนำส่ง รพ.ไม่ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 7 วันระวังอันตราย รพ.กรุงเทพในฐานะ รพ.เอกชนที่มีความพร้อมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ขอทำงานร่วมกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัยผ่านศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ ที่พร้อมให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือ ด้วยการเข้าถึงผู้บาดเจ็บทันเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เหตุเกิดเวลาใด โดยมุ่งหมายให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคนปลอดภัยที่สุด

"ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ" มีศูนย์รับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมงเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือ และการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ในรถพยาบาลมีทีมแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ตลอดจนการมีทีมแพทย์เฉพาะทางเตรียมพร้อมให้การดูแล เพิ่มความพร้อมในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บในหลายระบบของร่างกาย เช่น สมอง กระดูก และอวัยวะภายในต่างๆ รวมถึงการเจ็บป่วยจากสาเหตุอื่นๆ

นพ.นันทศักดิ์ ทิศาวิภาต ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง รพ.กรุงเทพ เล่าว่า ในช่วง 7 วันระวังอันตรายของทุกปี มีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจำนวนไม่น้อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางสมอง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้รอดชีวิตต้องกลายเป็นผู้พิการ เป็นภาระให้กับครอบครัว และสังคม

"นอกจากบาดแผลภายนอกแล้ว การบาดเจ็บทางสมองจากการกระทบกระเทือนช้ำ อาจทำให้มีเลือดคั่งในกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว อาการสำคัญที่ตามมาได้แก่ อาการแขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว ปัญหาที่เกี่ยวกับความจำ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีนี้จำเป็นต้องวินิจฉัยอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม" นพ.นันทศักดิ์กล่าวดังนั้นเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ ได้จัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินประจำรถพยาบาลทุกคัน พร้อมด้วยอุปกรณ์ตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง อาทิ เครื่องกระตุ้นหัวใจ และติดตามสัญญาณชีพ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องควบคุมการให้สารน้ำ เครื่องวัดความดันโลหิต และปริมาณออกซิเจนในเลือด เครื่องดูดเสมหะ เป็นต้น อีกทั้งรถทุกคันติดตั้งระบบจีพีเอส ช่วยระบุพิกัดและนำทางไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

ในช่วง 7 วันระวังอันตรายนี้ อาจเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิต ติดต่อได้ที่สายด่วน 1719 และเครือ รพ.กรุงเทพ ได้เพิ่มช่องทางที่สะดวกขึ้นสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ในการดาวน์โหลดระบบแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ "BES i lert u" สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่ง รพ.ในเครือ รพ.กรุงเทพ ได้ติดตั้งระบบสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นหนึ่งเดียว สามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งของคนไข้ได้ทันที

ดังนั้นการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว อาจช่วยชีวิตได้ทันท่วงที

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 ธันวาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง