ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - ผลการดำเนินงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านสาธารณสุขระหว่างเดือน ส.ค.ปีก่อน จนถึงเดือน ส.ค.2556 สรุปได้ว่า ประชาชนไทยมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยมีผู้มีสิทธิทั้งหมด 64.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.9 ของประชากรผู้มีสิทธิทั้งประเทศ 64 กว่าล้านคนแบ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 74.94 สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 16.29 สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.63 สิทธิอื่นๆร้อยละ 1.04 ขณะที่ด้านอื่นๆโดยรวมที่ประสบผลสำเร็จ มีดังนี้

1.การพัฒนาระบบประกันสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขได้สร้างระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ ให้เร่งรัดบูรณาการ การให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นโยบายสร้างความเป็นเอกภาพ 3 กองทุน ภายใต้คำขวัญ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น"และเริ่มให้บริการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 เป็นต้นมา มีขอบเขต ดังนี้

1) คนไทยทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตตามนิยามในคำประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 สามารถเข้ารับการรักษาจนพ้นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2) สถานพยาบาลในเครือข่ายของ 3 กองทุนให้การรักษาและเบิกจ่ายชดเชยให้เป็นไปตามระบบปกติ

3) สถานพยาบาลเอกชนที่นอกเครือข่ายของ 3 กองทุน ให้เบิกจ่ายชดเชยผ่านระบบ EMCO ที่ สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) ดูแลเรื่องการจ่ายชดเชย ตามเกณฑ์กรณีบริการผู้ป่วยนอกที่ห้องฉุกเฉิน ใช้อัตราของกรมบัญชีกลาง

ผลลัพธ์ของการบูรณาการ สรุปได้ดังนี้การอนุมัติการจ่ายเงินจาก สปสช. ตั้งแต่วันที่1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2556 มีการเบิกจ่ายกรณีผู้ป่วยในทั้งหมด 26,587 คน 30,025 ครั้งค่ารักษาทั้งหมด 1,490,626,305 บาท เงินอนุมัติรวม 434,704,234 บาท คิดเป็น 29.2%ทำให้ประชาชนพึงพอใจต่อโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ มากที่สุดใน 10 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล

นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพคนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่15 ม.ค. 2556 ได้จัดให้ตรวจสุขภาพ จำหน่ายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวทั่วไป การขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวกับหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดให้มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพทั่วไป และได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ (ARV) เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2556 และได้ปรับราคาประกันสุขภาพใหม่ ดังนี้

* คนต่างด้าวทั่วไปอายุเกิน 7 ปี ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท คุ้มครอง 1 ปี

* เด็กต่างด้าวทั่วไป อายุ 0-7 ปีบริบูรณ์ค่าประกันสุขภาพ 365 บาท

* คนต่างด้าวที่รอเข้าระบบประกันสังคมค่าประกันสุขภาพ 550 บาท คุ้มครอง 3 เดือน

ขณะเดียวกัน เนื่องในวันแม่แห่งชาติยังมีโครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2556 ดังนี้

1) ให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์เร็ว เข้ารับบริการฝากครรภ์คุณภาพ ได้รับบริการคลอดในห้องคลอดคุณภาพ ได้ทุกที่ทุกสิทธิ ที่หน่วยบริการสังกัดกระทรวงทั่วประเทศ

2) เด็กแรกเกิดถึง 7 ปีบริบูรณ์ได้รับการดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังการเจริญเติบโต การส่งเสริมพัฒนาการตามวัยและได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด สำหรับการให้บริการกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ และผู้ป่วยเอดส์ที่มีผู้ลงทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 352,956 ราย ได้รักษาด้วยยา

ต้านไวรัสเอดส์ต่อเนื่อง169,792 คน คิดเป็นร้อยละ 97.35 จากเป้าหมาย 174,000 คนปัจจุบันกว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมได้รับยา กำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และสามารถป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่จากปีละ 10,853 คนในปี 2553 เหลือเพียง 8,959 คน ในปี 2556

2.การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดผลการบำบัดรักษา ผลการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ติดยาและสารเสพติด ทั้งประเทศรวมทั้งหมด 434,131 คน จากเป้าหมาย 3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 144.71 ของเป้าหมาย

3.งานพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย แบ่งเป็นวัยทำงานมีการป้องกันโรคมะเร็งสตรี ได้แก่การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดตรวจคัดกรองสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปีด้วยวิธี Pap Smear จำนวน 91,566 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของเป้าหมาย การดูแลและเฝ้าระวังสตรีไทยจากมะเร็งเต้านม โดยส่งเสริมให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองใน 4 จังหวัด

ได้แก่ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี 2,400 คน แต่ก็พบว่ามีเพียงร้อยละ 21 ที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง

กลุ่มเด็กและสตรีเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ร้อยละ67.7 การเจริญเติบโตของเด็กพบเด็กอ้วน ร้อยละ 6.7 เด็กเตี้ย ร้อยละ 9.1 ขณะที่การรับมือกับผู้สูงอายุ ได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในพื้นที่เครือข่ายบริการใน Psychosocial Clinic ช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 31.57 (เป้าหมายร้อยละ 31) ฯลฯ

4.การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการและเครือข่าย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลดภาวะแทรกซ้อน และเพิ่มคุณภาพชีวิต ใน 10 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ พัฒนาการดูแลโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรเช่น บริการผ่าตัดมะเร็ง บริการให้ยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาล บริการรังสีรักษา และมีแผนยกระดับการบริการเพิ่มเติมจากระดับ 2 เป็นระดับ 1 ให้ครอบคลุมทุกสถานพยาบาลของหน่วยงานในสังกัด

ขณะที่การบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในสิทธิ สปสช.ณ สิ้นวันที่ 31 ม.ค. 2555 ทั้งสิ้น 28,194 ราย และยังมีชีวิตอยู่ 19,843 ราย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือนใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2554 กว่า 3,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย ผลการดำเนินงานโครงการ "10,000 ดวงใจปลอดภัยด้วยพระบารมี" (1 เม.ย. 2555-31 มี.ค. 2556)จำนวนผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 11,605 ราย อัตราตายรวมลดลงร้อยละ 9.75 สามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ได้ 12 แห่งใน 10 เขตสุขภาพ (ยกเว้นเขต 3 และ 4) การใส่สายสวนหัวใจได้ 12 แห่งใน 10 เขต การให้บริการในหน่วยบริการระดับโรงพยาบาลศูนย์เขตสุขภาพ (ยกเว้นเขต 3 และ 12 ภาคใต้ตอนล่าง)

นอกจากนี้ โรงพยาบาลตั้งแต่ระดับ รพช.ขนาดใหญ่ ถึง รพศ. 280 แห่ง มีระบบช่องทางด่วนในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด และสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 152 แห่งคิดเป็นร้อยละ 54.29 มีเป้าหมายให้โรงพยาบาลตั้งแต่ระดับ รพศ.-รพช. ขนาดใหญ่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ครบทุกแห่งในปี 2560

ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการยกระดับให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการสุขภาพที่ดีขึ้นและทั่วถึงมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 2 มกราคม 2557