ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวสด - เวลาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอนิดเดียวก็เปลี่ยนผ่านข้ามปีแล้ว หลายคนใช้ปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเกิดสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถลืมได้ คือการดูแลสุขภาพ เพราะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะไปสร้างสิ่งต่างๆ ตามใจคิดนั่นเอง

ในรอบปีที่ผ่านมาข่าวคราวในวงการสาธารณสุขไทยอาจดูเวียนหัว เพราะวนเวียนอยู่กับข่าวคราวการประท้วงของหมอและบุคลากรสาธารณสุข หลังจากมีแนวคิดปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่ทั้งผู้ปฏิบัติงานและวางนโยบายต้องค่อยพูดค่อยจา รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อไปสู่ทางออกที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างสูงสุด ท่ามกลางงบประมาณและบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

แต่ก็ทำให้เห็นว่าท้ายสุดแล้วประชาชนก็ต้องรู้จักการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอันดับแรก

การป้องกันสุขภาพ หรือการสร้างเสริมสุขภาพเป็นแนวทางที่ทั่วโลกต่างยอมรับว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยลงได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมการกินหวานที่ทำให้เสี่ยงระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ทำให้แต่ละปีพบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 300,000 คน

โดย 1 ใน 3 ไม่รู้ตัวว่าป่วยเนื่องจากบริโภคน้ำตาลสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่าตัว

ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 6-8 ช้อนชาหรือประมาณ 24 กรัมต่อวันเท่านั้น

พฤติกรรมการติดหวานนี้เป็นเพียงหนึ่งในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของคนไทย ยังมีพฤติกรรมการกินเค็มมากเกินไป การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ทำงานหนักจนเครียด เลือกกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการสิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยเร่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ทั้งสิ้น

เทรนด์ใหม่ของคนสมัยนี้จึงเน้นไปที่การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง กีฬาสุดฮิตในช่วงปีที่ผ่านมา มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น การขี่จักรยานที่มีการรวมกลุ่มและ ขี่กันไปทั่วเมือง

นอกจากได้ออกกำลังกายยังเป็นการช่วยลดมลพิษอีกด้วย เพราะบางคนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ก็มี หรือจะเป็นการออกกำลังกายในฟิตเนส ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเมืองอย่างมาก

ในช่วงหลายปีหลังมานี้ การวิ่งมาราธอนก็กลับมาเป็นที่นิยมของหลายๆ คนอีกครั้ง ซึ่งเป็นกีฬาที่ฝึกความอดทนและสร้างพลังใจได้อย่างดี

ยังมีกีฬาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น พิลาทิส ที่เป็นการออกกำลังกายคล้ายๆ โยคะ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หรือฟรีรันนิ่ง (Free Running) ที่เป็นกีฬาผาดโผนของวัยรุ่นซึ่งมีลักษณะคล้ายยิมนาสติก เป็นต้น

ยุคนี้ยังมีเครื่องมือช่วยออกกำลังกายและดูแลสุขภาพอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ตโฟน ทั้งเป็นผู้ช่วยเก็บสถิติการออกกำลังกาย ช่วยสอนการออกกำลังกาย เช่น ท่าโยคะ ท่าเล่นฟิตเนส เป็นต้น ซึ่งเป็นของผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาต่างๆ

หรือช่วยให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของไทยอย่าง DoctorMe หรือเป็นแอพฯเพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ หรือการตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยภาครัฐเองอย่าง "Oryor Smart" ที่ให้ตรวจทะเบียนสินค้าได้ทันทีว่าจริงหรือไม่จริง หรือเป็นแอพฯการตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ของ ทีเซลส์ เป็นต้น

การออกกำลังกายไม่ว่าด้วยอะไรก็เป็นเรื่องดี วรงค์พร แย้มประเสริฐ เทรนเนอร์ทีมฟิตดี เจ้าของร้าน Fitnergy Cafe หรือ ครูวาว ครูผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายในฟิตเนสหรือเทรนเนอร์ อธิบายว่า การออกกำลังกายสามารถทำเองได้ทุกคน แต่การจะออกกำลังกายให้ไม่บาดเจ็บ หรือ เหมาะกับตัวเอง เหมาะกับความต้องการ

เช่น ลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก อาจจำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพราะบางครั้งก็พบว่าหลังออกกำลังกายบางคนเกิดอาการปวดหลัง ปวดหัว ซึ่งอาจเกิดจากเล่นท่าที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง เช่น หากมีอาการเจ็บเข่าจะต้องไม่ลงน้ำหนัก เพิ่มแรงเสียดทานไปที่เข่าแรงๆ เป็นต้น

"สิ่งสำคัญการทำให้สุขภาพดีไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องปรับไปพร้อมๆ ทั้งเรื่องการพักผ่อน การนอน การกิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ไม่ว่าจะเป็นคนอ้วนหรือผอมก็ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าผอมแล้วกินอะไรก็ได้ไม่ต้องเลือก หรือคนอ้วนไม่ใช่ว่าต้องกินให้น้อยที่สุด ก็เป็นความเชื่อผิดๆ เช่นกัน หลักการกินที่ถูกจึงต้องกินครบ 5 หมู่ ส่วนจะเพิ่ม หรือลดน้ำหนักค่อยปรับอีกครั้ง เช่น คนอ้วนเลี่ยงอาหารไขมันสูง เลิกกินจุบจิบ คนผอมเพิ่มอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ขนมปังโฮลวีต ทูน่า ระหว่างมื้อ เป็นต้น" ครูวาวอธิบาย

ส่วนการออกกำลังกายแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การเล่นโยคะ เวตเทรนนิ่ง หรือการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อด้วย คาดิโอ (Cardio) หรือการทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจ เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องวางแผนเพื่อเล่นให้ได้ในทั้งสามส่วน แต่ละคนอาจเน้นบางเรื่องแตกต่างกัน เช่น คนอ้วนอาจต้องเน้นการเผาผลาญไขมัน โดยทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจ ส่วนคนผอมอาจต้องเน้นเรื่องการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เป็นต้น

กีฬายังสามารถสร้างความสนุกได้ เช่น กีฬายอดฮิตอย่างปั่นจักรยาน ณชนน์ กิจเสาวภาคย์ หรือ แคน คนรุ่นใหม่ที่หันมาปั่นจักรยานได้ 2 ปี บอกเหตุผลในการเลือกที่จะมาปั่นจักรยานว่า เริ่มจากการเอาจักรยานพับคันเล็กที่บ้านออกไปปั่นที่สวนหลวง ร.9 แล้วได้ความรู้สึกเหมือนได้ออกไปเที่ยว เพราะได้ถ่ายรูปและเห็นอะไรที่ช้าลง ทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างออกไปในการออกไปที่ถนนเส้นเดิม

จึงหาข้อมูลของจักรยานเพิ่มเติมและได้เสือหมอบมาขี่อย่างจริงจัง ทำให้ออกไปปั่นได้ไกลขึ้น เพราะรถเสือหมอบมีเกียร์ โครงรถ และล้อที่ใหญ่กว่า ทำให้ผ่อนแรงลง อีกทั้งยังต่างจากการเล่นกีฬาอย่างอื่น เช่น เตะฟุตบอลที่อาจต้องรอเพื่อนมาครบถึงจะเล่นได้ แต่จักรยานอยากปั่นเมื่อไหร่ก็ทำได้เลย นอกจากได้ออกกำลังกายก็ยังได้เพื่อนเพิ่ม และได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นกว่าเดิมเพราะบางครั้งจักรยานก็ไปที่ที่รถไปไม่ถึง

หากอยากออกไปปั่นจักรยาน ปัจจุบันจะมีข้อมูลของจักรยานมากขึ้นในเว็บไซต์ต่างๆ รวมทั้งมีหลายราคาให้เลือก ตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว และหากอยากขี่จักรยานไปตามถนนต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันตัวเอง หมวก ถุงมือ สนับเข่าและศอก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ศึกษากฎจราจร เพื่อให้สัญญาณมือได้อย่างถูกต้อง หากปั่นเวลากลางคืนต้องติดไฟสัญญาณ และหลีกเลี่ยงที่เปลี่ยวก็จะปั่นได้อย่างสนุกมากขึ้น

ปีใหม่นี้หากยังไม่รู้จะให้ของขวัญตัวเองเป็นอะไรลองหันมาสร้างสุขภาพกันดีกว่า

เพราะสุขภาพดีๆ เริ่มที่ตัวคุณ

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod