ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แล็บศิริราชยันเชื้อแบคทีเรียแกรมลบดื้อยามากขึ้น เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ส่งผลเชื้อพัฒนาตัวเองสู้ยา ระวังเชื่อในโรงพยาบาล

รศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชา จุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยายังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทยยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ และเมื่อเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นและแพงมากขึ้น เชื้อก็จะพัฒนาตัวมันเองให้สู้กับยาได้ยิ่งใช้ยาแรงเชื้อยิ่งดื้อยามากขึ้น เป็นวงจร

ทั้งนี้จากห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ของภาควิชาจุลชีววิทยา พบว่า เชื้อแบคทีเรียมีการดื้อยามากขึ้น โดยเชื้อแบคทีเรียที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแกรมบวก และประเภทแกรมลบ เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาเป็นประเภทแกรมลบจนเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุข

"การติดเชื้อในโรงพยาบาลจะมีโอกาสดื้อยาสูง เนื่องจากโรงพยาบาลจะมีการใช้ยาฆ่าเชื้อจำนวนมาก เชื้อแบคทีเรียจะมีกลไลในการต่อสู้กับยาฆ่าเชื้อ ดิ้นรนจนแข็งแกร่งมาก ดังนั้นผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จึงไม่อยากให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลนานจนเกินไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หากติดเชื้อดื้อยาก็จะรักษาได้ยาก ซึ่งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบดื้อยาที่พบได้บ่อยจะทำให้เกิดโรคปอดบวมแต่ไม่ได้หมายความว่าโรคปอดบวมจะเกิดจากเชื้อดื้อยาทั้งหมด การใส่เครื่องช่วยหายใจ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น" รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าว

รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวด้วยว่า มาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลได้แก่ 1.อย่าใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นหรือพร่ำเพรื่อ เพราะเชื้ออาจตายไม่หมดแล้วดื้อยาขึ้นมาได้ 2.หากคนไข้ติดเชื้อ แพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วย ที่สัมผัสผู้ป่วยจ้อต้องล้างมือ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และ 3.ต้องควบคุมโรคให้ได้ โดยเลือกใช้ยาให้เหมาะสม และไม่ให้อยู่โรงพยาลนานเกินจำเป็น สำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่มาเยี่ยมผู้ป่วย หากมีการสัมผัสผู้ป่วยขอให้ล้างมือทีนทีก่อนออกจากโรงพยาบาลซึ่งเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่มักจะลืมให้ความสำคัญกับการล้างมือ อย่างพอสมัผัสผู้ป่วยเสร็จก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ เชื้อก็จะไปติดอยู่ที่โทรศัพท์มือถือ เมื่อกลับไปถึงบ้านเชื้อก็จะไปแพร่กระจายที่บ้านตามที่ที่เราวางโทรศัพท์มือถือไว้ เป็นต้น

"การล้างมือด้วยสบู่ธรรมดาก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่หากมีประวัติเคยติดเชื้อมาก่อนก็อาจจะล้สงด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ แต่หากเผลอสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายหลังจากสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้ล้างมือ ก็อาจจะใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ควรจะต้องมีการรณรงค์ให้มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และหากไม่สบายเป็นหวัดก็ควรจะคาดหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ' รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าว

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 6 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--