ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 สร้างเวทีมีส่วนร่วมทุกฝ่าย หารือแนวทางป้องกันผลกระทบสุขภาวะและสังคมจากข้อตกลง FTA ดึงภาคเอกชน-ประชาสังคมหาข้อสรุป ก่อนเสนอรัฐบาลศึกษาผลกระทบรอบด้านทั้งก่อนและหลังเจรจา โดยเฉพาะสินค้าสุรา ยาสูบ และข้อตกลงคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

น.พ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะทำงานวิชาการพัฒนาประเด็นการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 เปิดเผยว่า ข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง "การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ" กำหนดให้การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ และ FTA ต้องมีการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ก่อน เพราะการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศถือเป็นนโยบายสาธารณะประเภทหนึ่ง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน จึงควรมีการศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้าน

"ข้อตกลงทางการค้ามีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาวะและมิติเชิงสังคม อาทิ การลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ รวมถึงการรุกคืบให้ประเทศไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและยารักษาโรค เป็นต้น ซึ่งหลังจากหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้ง เบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากทำข้อตกลง FTA ไปแล้ว อย่างไรก็ตามจะมีการหารือในประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติในเวทีสมัชชาสุขภาพอีกครั้ง เพื่อเป็นข้อเสนอไปยัง รัฐบาลต่อไป"

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเคยเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่เนื่องจากมตินี้มีปัญหาในทางปฏิบัติและมีความแตกต่างทางด้านแนวคิด หลายหน่วยงานทำหนังสือคัดค้าน ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 เห็นว่าควรให้มีการทบทวนและพัฒนามตินี้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เพื่อทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ และ นำเข้าเป็นระเบียบวาระที่ 8 ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 วันที่ 26-28 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

น.พ.สุวิทย์ให้ความเห็นว่า ผลประโยชน์ทางการค้าและการพัฒนาประเทศจากการเปิดเสรีนั้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพียงแต่ต้องทำให้ทุกกลุ่มคนได้ประโยชน์อย่างสมดุล ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการ เตรียมความเข้มแข็งให้กับประชาชนทั่วไปและผู้บริโภค ที่ผ่านมาคณะทำงานได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือโดยตลอด พร้อมกับเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ถ่ายทอดรายละเอียดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีการปิดกั้นและยืนอยู่บนหลักการของประโยชน์ประเทศ ซึ่งพบว่าแต่ละฝ่ายยังมีความเห็นที่ต่างกัน คือผู้ประกอบการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยผู้ประกอบการมองว่า การเปิดเสรีการค้าทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ และทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ จึงต้องการให้แนวทางการป้องกันผลกระทบจาก FTA ไม่ให้ไปกระทบกับเศรษฐกิจการค้ามากเกินไป ขณะที่ภาครัฐและภาคประชาสังคม มีแนวคิดมุ่งเน้นพิจารณาผลกระทบของ FTA ต่อประชาชนระดับฐานรากและผู้บริโภคเป็นหลัก

"ในเวทีการหารือมีประเด็นที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ และต้องใช้หลักเมตตาต่อกัน เปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และต้องพยายามหาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับ ไม่เช่นนั้นมติที่จะนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ก็จะไม่ถูกพัฒนาและไม่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง สำหรับแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเสนอต่อรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นมติร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นมติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในเบื้องต้นจะมีการทบทวนทุก ๆ 2 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 8 ม.ค. 2557