ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกประมาณว่า แต่ละปีจะมีคน 1 ล้านคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และคาดไว้ว่าในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย 1.53 ล้านคน อีกทั้งสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายของอเมริกา ประมาณอัตราส่วนของผู้ที่พยายามทำร้ายตัวเองแต่ไม่สำเร็จมีสูงกว่าผู้ทำสำเร็จถึง 25 เท่า ทั้งยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวและคนรอบข้างอีกประมาณ 5-10 ล้านคนในแต่ละปี
       
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า หลังจากได้ดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายมาตั้งแต่ปี 2544 ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงตามลำดับ จากอัตราการฆ่าตัวตาย 8.59 ในปี 2542 ลดลงถึง 5.7 ในปี 2549 แต่ปี 2555 ที่ผ่านมา อัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็น 6.20 ต่อประชากรแสนคน เนื่องจากปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งโดยภาพรวมปี 2555 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากถึง 3,985 คน เฉลี่ยต่อเดือน 332 คน และเฉลี่ยรายวันๆละ 10-12 คนหรือทุกๆ 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน
       
วัยแรงงานเป็นช่วงกลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงอายุกลุ่มอื่น โดยกลุ่มอายุ 30-34 ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด รองลงมาคืออายุ 35-39 ปี และ 25-29 ปี ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป กลับเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าตัวชี้วัดที่ประเทศกำหนด คืออยู่ระหว่าง 10.11-11.07 ต่อประชากรแสนคน
       
ที่น่าเป็นห่วง คือ ประชากรในพื้นที่ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่พบอุบัติการณ์ของการฆ่าตัวตายมากกว่าภาคอื่นๆ โดยจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ คือ จังหวัดน่าน รองลงมาคือ เชียงราย (14.48) แม่ฮ่องสอน (14.33) เชียงใหม่ (13.08) อุตรดิตถ์ (12.79) สิงห์บุรี (12.18) ตราด (11.29) ลำพูน (11.62) พะเยา (10.67) และอุทัยธานี (10.65)