ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง สาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมราชการ ในการดูรูปแบบการบริหารและจัดบริการร่วมกันของโรงพยาบาลทั้งหมดภายในเขตในทางปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังดำเนินการตามรูปแบบเขตบริการสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา เพื่อดูแลประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยแรงงาน ผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่าง เท่าเทียมทั่วถึงและไร้รอยต่อ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเตียง กำลังคน การเงินการคลัง และติดตามปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการปฏิบัติจริงของพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ใน 3 ประเด็น คือ 1.คุณภาพการจัดบริการ เช่น การลดเวลารอคอย 2.การบริหารกำลังคน การเงินร่วม และ3.คุณภาพการดูแลรักษาการเจ็บป่วย โดยเขตบริการสุขภาพที่ 4 มีประชากรรับผิดชอบ ประมาณ 5 ล้านคน มีโรงพยาบาลทุกระดับ 71 แห่ง มีเตียงรับผู้ป่วย วันละ 6,435 เตียง มีแพทย์ 882 คน การบริการ ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใช้เวลารอคอยโดยเฉลี่ย 1.50 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองมีผู้ป่วยนอก แน่นแออัด เช่นที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 2,400 คน แนวการจัดการอาจจะต้องเพิ่มการกระจายศูนย์สุขภาพชุมชนรูปแบบใหม่ ที่เหมาะสมกับสภาพเขตเมืองที่มีความเจริญ เข้าถึงบริการง่าย เช่นในรูปแบบ ของโรงพยาบาลสาขาสะดวกใช้บริการ คล้ายกับ ร้านสะดวกซื้อ ประชาชนที่ป่วยทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรงเข้าถึงง่าย สะดวก เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มศักยภาพ ของโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมให้มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างเต็มที่ ทั้งห้องผ่าตัด เตียงผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลใหญ่เป็นศูนย์ดูแลและรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาการหนักจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด หรือจังหวัดภายในเขต ซึ่งจะติดตามดูอีก 11 เขต ที่เหลือด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 8 มกราคม 2557