ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานเศรษฐกิจ - วันนี้ (8 มกราคม 2557) ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามผลการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ

ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ที่เขตบริการสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี ประชากรประมาณ 5 ล้านกว่าคน โดยมีนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการบริหารเขต นำเสนอผลสรุปการดำเนินงาน จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชะอำ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 90 เตียง

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งปฏิรูประบบสุขภาพ โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการในรูปของเขตบริการสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจเพื่อบริหารการจัดบริการประชาชนให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา เพื่อดูแลประชาชนทุกคน ให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและไร้รอยต่อ ทั้งเรื่องการป้องกันการเจ็บป่วย และการดูแลรักษา โดยการบริหารรูปแบบใหม่นี้ เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันร่วมกัน ทั้งเตียง กำลังคน การเงินการคลัง เพื่อให้บรรลุเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ 3 ประเด็น คือ คุณภาพการจัดบริการ การบริหารทรัพยากรร่วม และ3.คุณภาพการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 5 มีแพทย์ 1,168 คน แพทย์เฉพาะทาง 702 คน หลังจากที่มีการจัดบริการร่วมในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 เริ่มเห็นผลหลายเรื่อง เช่นประชาชนได้รับบริการเร็วขึ้นกว่าเดิม ในระดับโรงพยาบาลศูนย์ ใช้เวลาเฉลี่ย 90 นาที จากเดิมประมาณ 120 นาที โรงพยาบาลทั่วไป เฉลี่ย 110 นาที ส่วนโรงพยาบาลชุมชนเฉลี่ย 90 นาที

ในด้านการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษา ซึ่งปัญหาที่พบอันดับ 1 ของพื้นที่นี้คือโรคมะเร็ง ในปี 2556 มีผู้ป่วย 16,000 ราย ที่ผ่านมาต้องส่งตัวไปฉายแสงและทำเคมีบำบัดที่กทม. มากที่สุดปีละ 1,500 ราย ตามจ่ายค่ารักษา 200 ล้านต่อปี คิวรอเฉลี่ยมากกว่า 1 เดือน ในปีนี้ได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีทั้งหมด 15 แห่ง เปิดหน่วยเคมีบำบัดได้ทุกแห่ง และในเดือนเมษายนนี้จะเปิดศูนย์มะเร็ง บริการฉายแสงรักษามะเร็งที่โรงพยาบาลราชบุรี สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั้ง 8 จังหวัด เพิ่มอัตรารอดผู้ป่วยสูงขึ้น ส่วนในระดับพื้นที่เช่นที่ จ.สมุทรสาคร ได้ใช้การจัดบริการร่วมในการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ระบบดิจิตอลระหว่างรัฐและเอกชน สามารถลดต้นทุนบริการลงได้ 2 เท่าตัว จากเดิมรายละ 2,300 บาท เหลือเฉลี่ย 1,000 บาท

ทางด้านนายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เรื่องที่อยากเห็นคือการจัดบริการร่วมกันของโรงพยาบาลทุกระดับภายในเขตบริการสุขภาพเดียวกัน เพื่อให้เกิดผล 3 เรื่อง คือ เกิดเครือข่ายบริการอย่างไร้รอยต่อ การพึ่งตนเองภายในจังหวัดและในเขตบริการ และการส่งต่อผู้ป่วยดูแลรักษาจนหายป่วยอย่างมีคุณภาพ และเพิ่มการส่งเสริม ป้องกันโรค รักษาพยาบาลขั้นต้น และฟื้นฟูสุขภาพในสถานบริการระดับปฐมภูมิคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่เป็นจุดเชื่อมระหว่างบริการขั้นพื้นฐานกับขั้นสูง รักษาโรคที่มีความซับซ้อนบางสาขาได้ เช่น กระดูก และข้อ ฟัน โรคตา โรคไต เป็นต้น จะสามารถลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ได้

ที่มา: http://www.thanonline.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง