ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"รมว.สธ." ตั้งคณะกรรมการดูแลประชาชน ให้ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่สังกัด สธ. ยึดหลักการทำงาน 4 ข้อ เน้นมีความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานร่วมกับทุกหน่วยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานปลอดภัย รับมือม็อบปิดกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 57 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการดูแลประชาชน เตรียมความพร้อมรองรับการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 13 ม.ค.นี้ เพื่อให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งบริการทางการแพทย์ การสำรองยา ระบบการสื่อสารแจ้งเหตุหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน และระบบการเบิกจ่ายของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตามที่มีการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลได้ตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น เพื่อให้การดูแลประชาชนให้ปลอดภัย ทั้งราชการ ชีวิตและทรัพย์สิน ในส่วนของ สธ. รับผิดชอบในการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทุกคน ซึ่งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลประชาชน มี นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ. เป็นประธาน นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. เป็นรองประธาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย หัวหน้าสำนักตรวจราชการ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ผู้แทนศูนย์เอราวัณ ผู้แทนมูลนิธิร่วมกตัญญู ผู้แทนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ทำหน้าที่ 1.บูรณาการการป้องกันสาธารณภัยที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย 2.ประสานการปฏิบัติงานกับส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ประชาชน 3.สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย 4.ประสานการดำเนินการกับคณะกรรมการอำนวยการและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 5.ปฏบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

“ได้เน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ทำงานในฐานะคนของรัฐ คือ ดูแลประชาชน และขอให้ยึดหลักการทำงาน 4 ข้อ ว่า เราต้องมีความเป็นกลาง ดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่มีอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องทำงานร่วมกันกับทุกคน ทุกหน่วยงาน ไม่เฉพาะแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานต้องปลอดภัย” นพ.ประดิษฐ กล่าว

พร้อมกันนี้ นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนในสถานการณ์การชุมนุม ได้แบ่งกลุ่มดูแลเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุม และประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ การชุมนุม จะมีแพทย์สนาม แพทย์อาสา เข้าไปดูแลส่วนประชาชนที่ไม่ได้อยู่บริเวณชุมนุม แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจร หากเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัว สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นๆ นอกสิทธิได้ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีระบบตามจ่ายโรงพยาบาลนั้นๆ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาจราจร เดินทางไปโรงพยาบาลไม่ได้ สามารถเรียกใช้บริการรถพยาบาลได้ นอกจากนี้ ได้ให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตและสำรองยา-เวชภัณฑ์ ที่จำเป็นไว้ให้เพียงพอแก่การบริการประชาชนด้วย