ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรม เตรียมสำรองยาจำเป็นและกระจายยาทั่วภูมิภาค รองรับความต้องการใช้ยาในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจรับวัตถุดิบยาพาราเซตามอลจากประเทศจีน และสุ่มตัวอย่างตรวจสอบเบื้องต้น

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 57 ที่องค์การเภสัชกรรม นายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองว่า องค์การเภสัชกรรมรับผิดชอบผลิตยาคุณภาพตามมาตรฐาน GMP ซึ่งในสถานการณ์บ้านเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรงและอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อภ. จึงได้สำรองเวชภัณฑ์ให้มากขึ้น รวมถึงกระจายเวชภัณฑ์ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยระบบโลจิสติกส์ของหน่วยงาน หากไม่สามารถขนส่งได้ จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขใช้รถขนส่งยาฉุกเฉินนำส่งยาให้เพียงพอ ซึ่ง อภ. มีความมั่นใจว่า เวชภัณฑ์มีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการสำหรับเวชภัณฑ์สำรองที่จำเป็นจะมีการปรับรายการผลิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ได้แก่ กลุ่มยาช่วยชีวิต เช่น น้ำเกลือ ยาฉีด ยาปฏิชีวนะ สำลี ผ้ากอซ เป็นต้น และกลุ่มยาต่อเนื่อง คือ ยารักษาโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น ยารักษาเบาหวาน ยารักษาความดัน ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น หากผลิตยาเป็นจำนวนมากและมีความจำเป็นต้องใช้ จะส่งไปแพ็กกิ้งหรือทำหีบห่อที่ โรงงานที่รังสิต

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์เภสัชกรรม ยังเปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวปนเปื้อนวัตถุสีดำในยาพาราเซตามอลและส่งกลับบริษัทผู้ผลิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ว่าวัตถุดิบยาพาราเซตามอลลอตใหม่ที่มีการแลกเปลี่ยนนั้นมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มกราคม 25527 เวลา 18.00 น. ในวันนี้ องค์การเภสัชกรรม จึงเชิญสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหม (รภท.) และสื่อมวลชน มาร่วมตรวจรับวัตถุดิบผลิตยาพาราลอตแรกที่นำเข้าจากประเทศจีน จำนวน 24 ตัน หรือ 480 ถัง น้ำหนักรวมถังละ 53.9 กิโลกรัม จากทั้งหมด 143.25 ตัน ผลิตยาพาราเซตามอลได้ประมาณ 257.4 ล้านเม็ด โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.อาร์. เคมีคอล ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จากนั้นสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบยาพาราเซตามอล 2 ถัง มาสุ่มตรวจตัวอย่างที่คลังวัตถุดิบของอภ. และจะส่งไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานที่ฝ่ายประกันคุณภาพของ อภ. และที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งด้านเคมี ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และด้านจุลชีพ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หากผลตรวจคุณภาพผ่าน ก็จะนำวัตถุดิบทั้งหมด ทยอยส่งเป็นงวดๆ ให้โรงงานเภสัชกรรมทหารที่เป็นผู้ผลิตยาพาราเซตามอลให้ อภ. มาตั้งแต่ประมาณปี 2548

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ทิ้งท้ายว่า การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการผลิตเป็นยาสำเร็จรูป ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย