ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยผลความสำเร็จกองทุนสุขภาพตำบล มี อบต.และเทศบาลทั่วประเทศ 7,751 แห่งเข้าร่วมก่อตั้ง สปสช.สมทบ 45 บาทต่อประชากร ปี 57 สปสช.สมทบ 2,562 ล้านบาท อบต.และเทศบาลสมทบอีก 300 ล้านบาท สำหรับดูแลสุขภาพประชาชน 56.93 ล้านคน เน้นดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่น

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการที่ได้มีการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.และเทศบาลหรือกองทุนสุขภาพตำบลขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สปสช.นั้น จนถึงเข้าร่วมครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ จำนวน 7,751 แห่ง (ร้อยละ 99.68 จากทั้งหมด 7,776 แห่ง) ครอบคลุมประชากร จำนวน 56.66 ล้านคน ปี 2557 บอร์ด สปสช.จัดสรรงบประมาณเพิ่มให้ 45 บาทต่อประชากร เพิ่มจากปี 2556 ที่ได้รับ 40 บาทต่อประชากร โดยในปี 2557 สปสช.สมทบงบประมาณ 2,562 ล้านบาท และ อบต./เทศบาลสมทบ 300 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 56.93 ล้านคน
       
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า เป้าหมายกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ปี 2557 ทุกกองทุนมีแผนสุขภาพชุมชน/แผนสุขภาวะชุมชน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้รับการดูแลโดยกองทุน มีกองทุนต้นแบบและบูรณาการการสร้างสุขภาวะของชุมชน เกิดความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพในระดับต่างๆ โดยมีภารกิจเน้นหนัก คือ สร้างความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการบริหารกองทุน ติดตามประเมินคุณภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในชุมชน การประเมินตนเอง ประเมินผลลัพธ์เพื่อการพัฒนาของกองทุน การจัดการข้อมูล จัดการความรู้ การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย
       
ทั้งนี้ กิจกรรมที่แต่ละกองทุนสุขภาพตำบลดำเนินการนั้น มีทั้งการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชนเพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชน ขณะเดียวกันก็เน้นการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนเป็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี