ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวบไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานบทการวิเคราะห์ของคอลัมน์นิสต์ 'ดวงจำปา' ถึงการประกาศจุดยืนทางการเมืองของนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒนา ปลัดสธ. ดังนี้

“เล่นเอาคนตะลึง ตึ่ง ตึง ตึ๊ง กันเป็นแถว เมื่อ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ประกาศจุดยืนทางการเมืองชัดแจ้ง ตัดสัมพันธ์ที่เคยมีมากับเจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ กันอย่างไม่ไว้หน้า ที่สำคัญประกาศผ่านสื่ออย่างชัดเจน และยังมีคำสำทับตบท้ายฝากไปถึงประดิษฐ คนเคยรักให้เจ็บช้ำน้ำใจ กับประโยคแมนๆ อย่าง วันนี้สบายใจที่สุดในชีวิต หรือ สบายใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในศักดิ์ศรีของการเป็นปลัดสธ. และข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน รวมถึงล่าสุดอย่าง ผมไม่ยึดติด ตำแหน่งปลัดก็คือหัวโขน รวมถึงประโยคเด็ดอย่าง นี่เป็นมติของประชาคมสธ. และผมเป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่งนำไปสู่เสียงปรบมือรัวๆ กอปรกับเสียงนกหวีดที่เป่าปรี๊ดยกย่องและชื่นชมให้กับวีรบุรุษสธ.คนนี้ กระทั่งแพทย์ชนบทไม้เบื่อไม้เบา คู่กัดกันมายาวนาน ยังต้องกลับหลังหัน ซาบซึ้งชื่นชมยินดีกับการกระทำอันหาญกล้าครั้งนี้ของณรงค์

แม้กระทั่ง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) คีย์แมนคนสำคัญของแพทย์ชนบท และตระกูลส. ที่เคยถูกล้วงลูก ทวงคืนอำนาจ ก็ชื่นชมยกย่อง เช่นเดียวกับ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดสธ. ปรมาจารย์และปูชนียบุคคลของฝั่งแพทย์ชนบท ก็ยังโพสต์ FB ให้กำลังใจ และระบุถึงขั้นว่า พยายามโทรไปหาแต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงขอโพสต์ให้กำลังใจทาง FB แทน

ยามนี้คนที่เจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุด คือ ประดิษฐ เพราะที่ผ่านมา นโยบายและการขับเคลื่อนสธ.ที่หวังว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองที่ทำให้ประดิษฐ โดนด่า เจ็บตัว จนถูกไล่ และไม่สามารถเป็นรมว.สธ.ได้อย่างปรกติสุขนับตั้งแต่ยิ่งลักษณ์เลือกมาเป็นรมว.สธ.เมื่อปลายปี 2555 นั้น ล้วน มาจาก ณรงค์

โดยเฉพาะ P4P ที่เป็นตัวจุดชนวนหลักที่ทำให้แพทย์ชนบทออกมาไล่ประดิษฐ (จนลุกลามนำไปสู่ประเด็นอ่อนไหว อย่างร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ทำให้แต่ละรพ.ชุมชนจุดติดง่ายขึ้น ต่างขึ้นป้ายคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างแข็งขัน จนแม้ร่างพ.ร.บ.นี้จะถูกตีตกไป แต่กระแสสูงของการขับไล่รัฐบาลก็ยังคงอยู่อย่างร้อนแรง)

รวมไปถึงความคิดในการทวงคืนอำนาจให้กับสธ. ก็เป็นความคิดของณรงค์ ที่เจ็บแค้นกับความรู้สึกว่าสธ.ถูกริบอำนาจไปให้ตระกูลส. และถ่ายทอดให้ประดิษฐ (ที่ ณ วันนั้น เป็นละอ่อนทางการเมือง แต่อาศัยแบ็คดี เป็นเพื่อนยิ่งลักษณ์ และหวังจะสร้างผลงาน จึงเข้าขากันได้ดีกับปลัดณรงค์ แม้ถูกแพทย์ชนบทไล่ก็ยังไม่ถอดใจ แต่วันนี้ได้กลายเป็นเพียงอดีตคู่หู และคนเคยรักไปซะแล้ว) จนนำไปสู่การออกนโยบายหลายเรื่องที่จะทวงคืนอำนาจ เช่น ชงวาระด่วนแก้ประกาศงบกองทุนบัตรทองเข้ามาที่ประชุมบอร์ดสปสช.  ที่ถูกชงมาจาก นพ.บัญชา ค้าของ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ ปัจจุบันผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง เด็กในคาถาของณรงค์ จนแพทย์ชนบทออกมาไล่(อีกครั้ง) ทำให้ประดิษฐแก้เหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยดึงวาระนี้ออกจากการประชุมบอร์ดสปสช.ด่วน ทันทีที่รู้ว่าแพทย์ชนบทจะมายื่นหนังสือคัดค้าน

ตลกร้ายจาก ณ วันนั้น คือ หัวขบวนที่แพทย์ชนบทเอาชื่อออกสื่อในการคัดค้านคือ นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผอ.รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลราชธานี ในฐานะประธานชมรมรพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย ที่ยื่นหนังสือคัดค้านให้ประดิษฐ และคณะก่อนหน้าจะประชุมบอร์ดสปสช. ณ ทางเข้าสปสช. โดยมีณรงค์ มือชงยืนอยู่ข้างๆ แต่ประดิษฐรับก้อนอิฐไปเต็มๆ

ซึ่งวงในแพทย์ชนบทก็ตระหนักดีว่า นโยบายทั้งหลายที่แพทย์ชนบทไม่ชอบใจนั้นมาจากณรงค์คนนี้แหละ แต่เพื่อหวังผลการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป้าหมายแรกที่ต้องถูกไล่ เพราะไล่ง่ายกว่า คือ ข้าราชการการเมือง ส่วนข้าราชการประจำอย่างณรงค์นั้น ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ฝั่งแพทย์ชนบทยังวางจังหวะซ้ำสองในการเคลื่อนไหว ด้วยการทำให้ ประดิษฐ และณรงค์ เป็นตัวตลกในสธ. เพราะทุกนโยบายล้วนถูกต่อต้านอย่างหนัก จนต้องถอยร่นไม่เป็นกระบวน แต่พอดีว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์สะดุดขาตัวเองล้มกับเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสียก่อน(จนบัดนี้ยังลุกไม่ขึ้น และยิ่งจมดินไปมากกว่าเดิม) การสร้างภาพลักษณ์ สองคู่หูให้เป็นตัวตลกสธ.จึงยังไม่เกิด ซึ่งก็นับว่ายังโชคดีอยู่บ้าง (ฮา)

แต่มาวันนี้ เมื่อณรงค์กลับกลายมาเป็นวีรบุรุษแห่งสธ. ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ คนดี คนตรง คนกล้า ให้แข็งแรงขึ้นไปอีก ชมรมรพ.ชุมชน นำโดยหมอพรเจริญคนนี้ ก็ออกแถลงการณ์ชื่นชมยินดี และไม่วายตบท้ายว่าจะรับคำสั่งจากปลัดสธ.เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นท่าทีเดียวกับที่ชมรมแพทย์ชนบทแสดงออกมา ไม่ว่าจะผ่านการโพสต์ facebook และผ่านการให้สัมภาษณ์ของ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรม ที่เป็นไปในทิศทางชื่นชม แต่แพทย์ชนบทยังไม่มีแถลงการณ์ออกมาถึงขั้นว่า จะขอรับคำสั่งจากปลัดณรงค์คนเดียวเท่านั้น นัยว่าคงยังกระดากอายกันอยู่บ้าง เพราะไล่กันมาเป็นปี จะมาญาติดีกันตอนนี้ก็กระไรอยู่ (ฮา)

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแพทย์ชนบทครั้งนี้ เป็นเรื่องผิดคาดของคอการเมืองสธ.พอสมควร เพราะสิ่งที่ณรงค์ทำครั้งนี้ มันคือการขโมยซีนแพทย์ชนบทชัดๆ ก็ใครเล่าที่ตะโกนบอกสังคมมาเป็นปีๆ ว่านโยบายที่ประดิษฐ-ณรงค์ทำอยู่นี่มันล้มเหลว ใช้ไม่ได้ ทำให้สธ.แตกแยก จนต้องออกมาไล่ แต่ก็เหมือนกับว่า ชื่อของชมรมแพทย์ชนบท ภายใต้การนำของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ประธานชมรมที่ครองตำแหน่งมากว่า 8 ปีเข้าให้แล้ว ได้คลายมนต์ขลังและเป็นชื่อที่ขายไม่ได้เหมือนอย่างในอดีตแล้ว อันเนื่องมาจากผลกรรมเรื่องค่าตอบแทน C9 ที่เป็นชนักติดตัวแพทย์ชนบทยุคหมอเกรียงว่าคิดแต่เรื่องเงิน รวมถึงความสัมพันธ์อันหวานชื่นอย่างผิดปกติกับปลัดปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ในยุคนั้น จึงทำให้การเคลื่อนไหวไล่ประดิษฐ ไม่ได้รับการตอบรับจากคนในสธ.มากนัก มิหนำซ้ำ กระบวนการเคลื่อนไหวยังก่อให้เกิดความแตกแยกกับวิชาชีพอื่นๆอีก โดยเฉพาะจากสภาการพยาบาล

จนเมื่อฟ้าเปิด เหตุจากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงไล่ระบอบทักษิณ ทำให้แพทย์ชนบททุ่มสุดตัว จนถึงขั้นส่งเกรียงศักดิ์ ขึ้นเวทีกปปส. ซึ่งอาจจะนับเป็นคนสธ.แรกๆ ที่ขึ้นเวทีประกาศตัวชัดแจ้ง แต่ทั้งหมดก็ยังเทียบไม่ได้ กับสิ่งที่ ณรงค์ทำ ในแถลงการณ์ประชาคมสธ. ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ส่งให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในชั่วข้ามคืน

อาจจะด้วยเสียงต้อนรับอย่างล้นหลามจากคนสธ.ครั้งนี้กระมัง จึงทำให้แพทย์ชนบท ไม่สามารถพูดได้ว่า ณรงค์ขโมยซีน และเป็นโจรกลับใจ ท่าทีออกสื่อของแพทย์ชนบทจึงต้องมาแนวเดียวคือ ชื่นชมยินดี และยินดีต้อนรับปลัดณรงค์สู่การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ แต่ยังไม่วายเหน็บแนมเล็กๆ เชียร์ให้สุดซอย

โดยเฉพาะภาพของบุคลากรสธ.กว่า 3 พันคน ที่มาให้กำลังใจ ปลัดณรงค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็น ชมรมสาธารณสุขจังหวัด ชมรมรพศ./รพท. สพศท. ของหมอประชุมพร บูรณ์เจริญ และอีกมากมาย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแพทย์ชนบทมาโดยตลอด

แต่ภาพนี้ ก็คงทำร้ายหัวจิตหัวใจของประดิษฐได้พอสมควร เพราะไม่ว่านโยบายไหนที่ประดิษฐ-ณรงค์ ออกมา โดยเฉพาะ P4P หรือการก้าวก่ายกับตระกูลส. จะได้รับแรงหนุนเสริมจากกลุ่มนี้เสมอ ตั้งแต่มอบดอกไม้ที่สธ. จนถึงไปมอบที่ทำเนียบ เมื่อครั้งที่สธ.จะไปยุ่งเกี่ยวกับเงินกองทุนบัตรทอง หรือกระทั่งการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการสปสช. ที่คนในสปสช.ต่อต้านว่าการเมืองแทรกแซง ขัดธรรมาภิบาล ก็คนกลุ่มเดียวกันนี่แหละ ที่ออกหน้ารับแทน

แต่มาวันนี้ มีเพียง ณรงค์ที่เป็นพระเอก และประดิษฐกลายเป็นผู้ร้ายเต็มตัว จากคนที่เคยโทรหาปรึกษางานกันได้ 24 ชั่วโมง วันนี้เมื่อนักข่าวถามปลัดว่า ได้คุยกับรมต.หรือยัง คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ได้คุย เพราะเป็นวันหยุดราชการ อุต๊ะ นี่อัลไล

แม้การประกาศตัดสัมพันธ์ออกสื่อของณรงค์จะทำให้คนตกตะลึง พร้อมกับคำถามว่าทำไม แต่สำหรับใครที่ใกล้ชิด จะรู้ได้ว่ามีสัญญาณว่าจะตัดสัมพันธ์นี้มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ช่วงตั้งวอร์รูมส่วนหน้าที่รพ.สงฆ์ในสถานการณ์ชุมนุม ที่ณรงค์มักเปรยประโยคปริศนาให้นักข่าวได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น ผมเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยกคำพูดอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ว่า คนเราถ้าไม่พะวงรักษาเก้าอี้ มักจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ที่เวลานั้น นักข่าวที่ฟังอยู่ ก็เริ่มเอะใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับปลัดณรงค์ของเรา

จนมาถึงการย้ายสถานที่ทำงานของเจ้ากระทรวง หมอประดิษฐ ไปอยู่ที่เรือนไทย ที่ทำให้เกิดกระแสว่า ปลัดกะรมต.แตกคอกันหรืออย่างไร จนเกิดข่าวลือว่า ไม่ถูกกันแล้ว แต่ก็ยังยากที่คนจะเชื่อ ยิ่งคนให้ข่าวเป็นแพทย์ชนบท ตอนนั้น นักข่าวยิ่งไม่เชื่อใหญ่ (ฮา) แต่แล้ว หลังข่าวปล่อยไม่กี่วัน แถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุข ฉบับ 3 ที่ออกในคืนวันที่ 9 ม.ค. ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดี

ปลัดณรงค์ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ เปิดใจถึงการตัดสินใจครั้งนี้ แต่การแสดงจุดยืนครั้งนี้ก็สร้างคำถามมากมายว่าทำไม บ้างก็ว่า ได้รับสันญาณพิเศษบางอย่าง จึงต้องเดินหน้าพุ่งชน หนักถึงขั้นว่า อาจจะได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีก็เป็นได้ ในช่วงหลังจากนี้

แต่ไม่ว่าเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร หรือแท้จริงแล้วไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นจุดยืนทางการเมืองล้วนๆจากใจจริง ผลสะเทือนจากจุดยืนของปลัดสธ.ที่ตัดสินใจเลือกข้างนี้ สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แว่วว่า เป็นคนเลือกมาเองกับมือ รวมถึงคนเคยรักอย่างประดิษฐ ที่ล่าสุดต้องแก้เกมส์ ด้วยการตั้งคณะกรรมการดูแลประชาชนช่วงชัตดาวน์ ที่คนเป็นประธานชื่อ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด และมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ เป็นรองประธาน แวดล้อมด้วยอธิบดีทั้ง 8 กรม ที่ก็เป็นสันญาณให้จับสังเกตได้ว่า กลุ่มนี้ยังอยู่ข้างประดิษฐ

ขณะที่ฝั่งณรงค์ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อมีคำสั่งยึดอำนาจการดูแลเขตสุขภาพคืน จากรองอำนวย และรองชาญวิทย์ ให้ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ และนพ.วชิระเพ็งจันทร์ รองปลัดสธ.ดูแลแทน เราจึงได้เห็นการแบ่งฝ่ายคนของใครกันอย่างชัดเจนก็จากงานนี้

จากนี้ไม่รู้ว่าประดิษฐจะแก้เกมส์อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อประชาคมสธ. ที่บอกว่ามีหลายชมรมอยู่ในนั้น ล้วนออกแถลงการณ์ว่าจะฟังคำสั่งจากปลัดสธ.เท่านั้น ที่สำคัญยังต้องหวั่นวิตกว่า ปรากฎการณ์ณรงค์นี่จะลามไปยังหน่วยราชการอื่นๆอีกหรือไม่

ผู้สันทัดกรณี ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมปรากฎการณ์ ณรงค์’ rising ในนามของประชาคมสาธารณสุขนั้น จึงสร้างความสั่นสะเทือนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นก็เพราะว่า ช่วงกลางของการชุมนุมกปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการปกกส. เคยบอกว่า ระบอบทักษิณขับเคลื่อนได้เพราะระบอบข้าราชการ แต่ตอนนี้กปปส.ทำลายระบอบทักษิณแล้ว ขอให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่ามารายงานตัวกับกปปส.

แน่นอนว่า ตอนนั้นใครฟังก็หัวร่อ และตามคาดไม่มีข้าราชการที่ไหนไป แต่การกระทำของ ณรงค์และพวกในวันนี้ รวมถึงแถลงการณ์ว่า จะรับคำสั่งจากลปัดสธ.เท่านั้น ก็เหมือนกับว่า ณรงค์และประชาคมสธ.ไปรายงานตัวกับกปปส.แล้วนั่นเอง

ขณะที่ประดิษฐก็ยังต้องหวั่นเกรงว่า ปรากฎการณ์ณรงค์จะลามไปยังส.อื่นๆ อีกหรือไม่ แน่นอนว่าหลาย ส. เริ่มคุยกันเรื่องนี้ แต่หัวขบวนนำของแต่ละองค์กรยังไม่ได้ออกหน้ามาก ยกเว้น เพียงนพ.อำพล เลขาธิการสช. ที่แม้บอกว่าไม่ใช่สช. แต่ก็เป็นเครือข่ายทั้งหลาย

ด้าน ส. ที่ถูกกระทำชำเราอย่างยับเยิน จากประดิษฐ และณรงค์ อย่างสปสช.นั้น เมื่อเห็นตัวอย่าง ณรงค์ rising แม้จะมีคำถามว่าทำไม อะไรเป็นเหตุให้ปลัดมีท่าทีเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา ณรงค์ผู้นี้แหละที่เป็นหัวขบวนกระทำชำเราสปสช.มาโดยตลอด (ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า เพราะมีความหลังฝังใจกับสปสช.สมัยท่านปลัดเป็นผู้ตรวจที่ภาคใต้) แต่เมื่อท่าทีณรงค์เปลี่ยน ที่สำคัญ ต้นสัปดาห์คนสปสช.ยังวิจารณ์ณรงค์ที่เอาผลงานของสปสช.ไปบอกว่าเป็นผลงานโบว์แดงของสธ. เรื่องการพัฒนาประกันสุขภาพ และเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน แต่ทั้งหมดต่างก็พากันลืมอดีตไปชั่วคราว (ฮา) และพยายามจะยกตัวอย่างณรงค์มาใช้กับสปสช. แต่บังเอิญในองค์กรเสียงแตก ระบุว่าไม่เหมาะสมกับหน่วยงานรัฐ ใครอยากเคลื่อนไหวในนามส่วนตัวไม่มีปัญหา จึงออกมาในชื่อกลุ่มคนสปสช.ปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งยังไม่ประกาศออกสื่ออย่างเป็นทางการ แต่ก็คงจะเร็วๆนี้ กลุ่มนี้ถึงขั้นออกแบบโลโก้ สกรีนเสื้อจัดเต็มกันเลยทีเดียว

เหตุการณ์นี้ คงจะเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดลึกสุดใจสำหรับประดิษฐ สำหรับประสบการณ์ชิมลางครั้งแรกในทางการเมือง คนที่หวังว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ ถึงขั้นมีพิมพ์เขียววางแผนเป็นขั้นตอน กลับโดนคนที่ไว้ใจตอกลิ่มจนจุกอก ซึ่งทั้งหมดโทษใครไม่ได้ นอกจากประดิษฐ ที่ไม่ยอม balance power ก็ในเมื่อเล่นเทไปอีกข้างหนึ่ง จนไม่ฟังเสียงอีกข้าง เมื่อถูกหักหลัง สิ่งที่ได้รับกลับคืน คือความสมน้ำหน้าและสะใจจากอีกฝ่าย

เรื่องนี้ประดิษฐไม่เป็นงานเหมือน วิทยา บุรณศิริ เจ้ากระทรวงคนก่อน ที่มีชั้นเชิง มีอ่อน มีแข็ง จนงานหลายอย่างเดินหน้าได้ดี ขณะที่คนที่อยากจะสร้างประวัติศาสตร์เสียเหลือเกิน กลับไม่มีด้านดีให้นึกถึง นอกจากด้านถูกแพทย์ชนบทไล่อย่างรุนแรง อ้อ ยังมีดีอีกอย่าง คือ ตั้งใจทำงาน แต่ไร้เดียงสาทางการเมือง

คำเตือนจากผู้อาวุโสที่มีให้ประดิษฐเสมอมา คือ สธ.เป็นกระทรวงเขี้ยวลากดิน มี 2 อุดมการณ์หลักที่ขัดแย้งและชิงการนำมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นการบริหารจึงไม่ง่ายเหมือนทำธุรกิจ key word สำคัญ คือ balance power (แต่พวกหมอก็อย่าเข้าใจไปว่า ที่เขี้ยวลากดิน เป็นเพราะกระทรวงนี้มีหมอครอง และหมอล้วนเป็นคนเก่งๆ ระดับหัวกะทิของประเทศทั้งนั้น ที่มันเขี้ยวลากดิน ก็เพราะหมอคิดว่าตัวเองเป็นหัวกะทิ คนเก่งของประเทศนี้แหละ 555)

 และท้ายสุดนี้ เมื่อเสร็จศึกไล่ระบอบทักษิณแล้ว ถ้าเกมเป็นฝั่งกปปส.ชนะ ซึ่งการสู้กัน ณ ยกแรกนั้น รูปการณ์ก็น่าจะออกเป็นเช่นนั้น แพทย์ชนบทและตระกูล ส.ทั้งหลาย ที่วันนี้ออกมาชื่นชมยินดี  ก็จงเตรียมตัว และระวังไว้ให้ดี เพราะพวกท่านจะต้องเปิดฉากรบกันทางความคิดกับณรงค์คนนี้ต่อไป อาจจะในฐานะใหม่ แต่ยังต้องสู้ในประเด็นเดิมๆ ที่พวกท่านเคยเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทของปลัดณรงค์ เรื่องความพยายามจะยึดคืนอำนาจจากตระกูลส. คืนนั่นแหละ รวมถึงนโยบายที่เป็นหัวใจสำคัญที่ณรงค์หมายมั่นปั้นมือว่าต้องทำให้สำเร็จ คือ P4P และเขตบริการสุขภาพ ด้วย (คริ คริ) ซึ่งโทษใครไม่ได้ นอกจากโทษตัวเอง ที่มักเคลื่อนไหว โดยหวังผลระยะสั้น ไม่ใจเย็น ยึดหลักการ รอผลระยะยาวที่มั่นคงกว่า

เอาเป็นว่า เสร็จศึกไล่ระบอบทักษิณ ก็มานับหนึ่งสู้กันอีกครั้งนะครัช พี่ น้อง...”