ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่า ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2546-2556) มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บถึง 34,877 คน

รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนจัดการความปลอดภัยในเด็ก สสส. และ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยฯ เปิดเผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก อันดับ 1 คือ การจมน้ำในเด็กอายุ 1-9 ปี ซึ่งเด็กวัยนี้มักจมน้ำตายในบ้านขณะผู้ดูแลอยู่ใกล้ แต่เผอเรอชั่วขณะ , เสียชีวิตอันดับ 2 คือ อุบัติเหตุจราจร โดยปี 2545 เด็กวัย 1-14 ปี เสียชีวิต 827 ราย โดยเฉพาะเด็กวัย 10-14 ปี มีอัตราการตายสูงขึ้น ร้อยละ 12 ,เสียชีวิตอันดับ 3 ของกลุ่มเด็กเล็ก คือ การสำลักสิ่งต่างๆ เข้าหลอดลม เส้นสายรัดคอ ใบหน้า หรือทางเดินหายใจถูกกดทับ มีการเสียชีวิตปีละ 35-50 ราย ส่วนกลุ่มเด็กโตสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 คือ ไฟฟ้าดูด 70-100 รายต่อปี ซึ่งจากการสำรวจของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าโรงเรียนกว่า 400 แห่งไม่มีการวางระบบสายดินที่ถูกวิธี รวมถึงผลิตภัณฑ์การก่อสร้างเดินระบบไฟฟ้าที่ขาดมาตรฐาน และ เด็กขาดทักษะการใช้งาน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวถึงการจัดการความปลอดภัยในเด็กในทศวรรษต่อไปว่า ต้องลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในเด็กอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เร็วขึ้น โดยจะต้องมุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร และความรุนแรงในเด็กวัย10-14 ปี ลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กวัย 5-9 ปี และลดอัตราการเสียชีวิตทุกประเภทในเด็กวัย 1-4 ปี ทั้งนี้กรณีเด็กเล็ก จะต้องเน้นการเสริมแรงบวกให้ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทั้งความรู้ ทักษะการเลี้ยงดู การเพิ่มทั้งปริมาณ และคุณภาพของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นจุดช่วยเหลือผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก นอกจากนี้ต้องใช้แรงเสริมทางลบด้วย เช่น ใช้พรบ. คุ้มครองเด็กในการควบคุม ผู้ปกครองที่ประมาท ทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลำพัง

สำหรับเด็กโตที่อายุเกินกว่า 6 ปีขึ้นไป ต้องฝึกทักษะชีวิต เช่น ความปลอดภัยทางน้ำ ทางถนน จัดสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และต้องใช้กฎหมาย กฎระเบียบบังคับ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่ม และของสังคมให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมของเด็กวัยนี้ในการจัดการความปลอดภัย โดยต้องมุ่งกลุ่มเด็กเสี่ยงสูง ได้แก่กลุ่มครอบครัวและชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน และเน้นสิทธิของเด็กที่จะได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างเสมอภาค เช่น เด็กในครอบครัวยากจน แตกแยก มีปัญหายาเสพติด ความรุนแรง มีปัญหาอาชญากรรม เด็กในชุมชนศักยภาพต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องสร้างความร่วมมือของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานแบบสหวิชาชีพ และแก่ไขปัญหาแบบบูรณาการ

หากสรุปโดยรวมตัวเลข แม้การเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุ จะมีแนวโน้มลดลงจาก 3,730 คนในปี 2545 เหลือ 2,636 คนในปี 2556 แต่ก็ยังถือเป็นการบ้านใหญ่ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กลดน้อยลงจนกลายเป็น 0 ซึ่งแม้จะมองดูว่าเรื่องนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อยก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ปกครองหันมาใส่ใจ และดูแลบุตรหลายของตนเองอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

การเริ่มต้นในสิ่งที่ดีๆ “ปานมณี”ว่าทำไปเลย ไม่ต้องรอเวลาเพื่อเหาคำตอบอะไรหรอก

ที่มา: http://www.naewna.com