ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีต สว. “จอน อึ้งภากรณ์” ห่วงไทยเดินตาม “บอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า” เกิดสงครามการเมือง สถาปนา 2 รัฐบาล แนะเดินหน้าเลือกตั้งพร้อมหาข้อตกลงปฏิรูปประเทศร่วมกัน ก่อนยุบสภาอีกครั้งเพื่อเลือกตั้งใหม่ พร้อมระบุกรณีปลัด สธ.แสดงจุดยืดการเมือง ไม่ควรลากกระทรวงเข้าร่วม เหตุในองค์กรยังมีคนเห็นต่าง ชี้ สช.เป็นองค์กรทำงานกับเครือข่ายประชาชน หากสนับสนุนทางการเมืองในนามองค์กร ต้องถามความเห็นเครือข่ายประชาชนก่อน 

นายจอน อึ้งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวแสดงความเห็นถึงกรณีการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของทาง กกปส. ที่ให้รัฐบาลลาออกและปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ว่า ส่วนตัวนับถือปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ใหญ่ และเข้าใจความไม่พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและรัฐมนตรีต่อไป แต่วิสัยการแสดงออกควรเป็นการลาออกจากตำแหน่งมากกว่า และแสดงเหตุผลของการลาออก ไม่ใช่การยกลากทั้งกระทรวงไปด้วย เหมือนกับเป็นการประกาศว่าจากนี้กระทรวงซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจะไม่ขึ้นกับรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งตนเห็นว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีสิทธิที่ลากทั้งกระทรวงแบบนั้น เพราะภายในองค์กร ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ไม่แต่เฉพาะหน่วยงานกระทรวงย่อมมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ดังนั้นท่านจึงไม่สามารถที่จะออกมาพูดแทนคนทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ นอกจากนี้ในทางกฎหมายหรือแม้แต่ในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่สามารถทำได้

“ผมเข้าใจปลัดที่อดทนไม่ได้ต่อรัฐมนตรี หรือรับไม่ได้กับรัฐบาล การกล้าออกมาแสดงจุดยืนเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่การแสดงสิทธิทางการเมืองที่เหมาะสม ต้องเป็นการแสดงออกส่วนบุคคล ในความเห็นผมคือการลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวง” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ในการออกมาแสดงจุดยืนของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่ค้านต่อรัฐบาลจะส่งผลต่อการทำงานภายในกระทรวงหรือไม่นั้น นายจอน กล่าวว่า ในช่วงเวลาปกติ ในกรณีเช่นนี้รัฐบาลก็อาจมีการปลดและตั้งปลัดใหม่ พร้อมทั้งอาจมีการดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งกรณีหากปลัดกระทรวงลาออก สังคมก็จะรับฟังผู้ที่ลาออกว่าเขามีเหตุผลอะไรที่ต้องทำเช่นนี้ มีอะไรที่กดดันหรือบีบคั้น หรือเกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นหรือไม่ แต่ในกรณีที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติอย่างในตอนนี้ ที่เป็นสถานการณ์ใครจะเข้ามายึดกระทรวง จะยึดพื้นที่ใดก็สามารถทำได้นั้น การออกมาประกาศจุดยืนของปลัดกระทรวงขณะนี้จึงเป็นเรื่องของทางการเมือง

ส่วนกรณีที่เกรงว่า การออกมาแสดงจุดยืนของผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันมากขึ้นนั้น นายจอน กล่าวว่า เชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นมากไปกว่านี้ เพราะขณะนี้สังคมก็มีความขัดแย้งทางการเมืองกันอยู่แล้วในทุกหน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลประชาชน คงต้องทำหน้าที่ต่อไปตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นจึงเชื่อว่าในทางปฏิบัติ การประกาศของปลัดกระทรวงคงไม่กระทบต่อการบริการสาธารณสุข แต่ยอมรับว่าอาจทำให้เกิดความสับสนกับข้าราชการว่าจะฟังคำสั่งฝ่ายใด ใครเป็นผู้บริหารกันแน่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาแสดงจุดยืนของปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจเป็นแบบอย่างให้ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการออกมาแสดงจุดยืนบ้างนั้น นายจอน เห็นว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีคนในระดับผู้บริหารออกมาแสดงจุดยืนการเมืองตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น ขณะนี้เรากำลังหลุดกรอบจากกติกาที่มีอยู่ในสังคม โดยไม่ต้องมีกติกาอะไรทั้งนั้น จะทำอะไรก็ทำได้ ถือว่าไม่ปกติ เป็นภาวะสงครามการเมือง

“สิ่งที่ผมกังวล ประเทศไทยกำลังมี 2 รัฐบาล เกิดสถานการณ์สงครามการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไม่เป็นผลดี เป็นการสถาปนา 2 รัฐบาลพร้อมกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีประชาชนสนับสนุนนับล้านคน เป็นสถานการณ์ที่ผมไม่คาดคิดมากก่อน ผมเคยไม่ดูงานที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า ประเทศที่มีสงครามทางการเมืองนับ 10 ปี เป็นสถานการณ์ที่ขัดแย้งร้ายแรงมาก เกิดการรบกันภายในประเทศ อีกทั้งการจะรื้อฟื้นประเทศที่ผ่านสงครามการเมืองเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้เวลา 3-4 ช่วงอายุคน กว่าจะอยู่ร่วมกันได้สนิทใจ ซึ่งผมไม่อยากเห็นประเทศเดินไปทางนั้น แต่จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น คิดว่าเรากำลังก้าวเข้าไปใกล้ขึ้นทุกที” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวและว่า หากเป็นไปได้อยากให้เกิดการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงเพื่อยุติสถานการณ์รุนแรงร่วมกัน

ต่อข้อซักถามว่า ในการเจรจายังไม่สามารถหาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเปิดโต๊ะเจรจาได้ นายจอน กล่าวว่า ในการเจรจาไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง เพียงแต่ต้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเท่าที่ดูสถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าจะยังยืดเยื้ออีกนาน เพราะ กกปส.ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ ขณะเดียวแม้จะมีการเลือกตั้งก็เชื่อว่าจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน เนื่องจากยังมีฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครชนะ ประชาชนทั้งประเทศก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ดังนั้นจึงต้องหาทางออกร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนใช่หรือไม่ นายจอน กล่าวว่า เลื่อนเลือกตั้งคงไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งได้ดำเนินไปแล้ว แต่การตกลงเพื่อหาข้อยุติร่วมกันยังสามารถทำได้ด้วยการทำกลไกปฏิรูปร่วมกัน จากนั้นทำประชามติ แล้วจึงค่อยยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องตกลงร่วมกันได้ก่อนเพื่อนำประเทศให้หลุดพ้นวิกฤต

นายจอน กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้นำองค์กรในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในองค์กรตระกูล ส. เข้าร่วมเดินขบวนแสดงจุดยืนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น เรื่องนี้มองว่าหากไปในนามส่วนตัวถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ถ้าไปในนามองค์กรจะต้องถามคนในองค์กรทั้งหมดว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เป็นองค์กรทำงานกับเครือข่ายประชาชน การออกมาสนับสนุนทางการเมืองในนามองค์กร จึงต้องถามความเห็นเครือข่ายประชาชนก่อน