ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ สปส.จัดโครงการลดการป่วยและเสียชีวิตแรงงานสตรีไทยจากมะเร็งปากมดลูก นำร่อง จ.สมุทรปราการ เน้นการตรวจเชิงรุกเพื่อให้สตรีไทยทุกคนได้รับการตรวจตามสิทธิ์พร้อมได้รับการรักษาทันทีพร้อมแบบกลุ่มก้อนให้ได้รับการรักษาไร้รอยต่อเพิ่มโอกาสหายขาดเป็น 100%

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ให้สิทธิ์ส่งเสริมป้องกันโรคครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีทุกสิทธิ์การรักษามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่สตรีส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาใช้สิทธิ์ ทั้งที่ไม่ทราบว่าตรวจฟรี และที่รู้แต่ไม่ตรวจเพราะอาย ทำให้อัตราการป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นเหตุให้สตรีไทยเสียชีวิตวันละ 14 คน และมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สปสช.จึงร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดโครงการลดอัตราการป่วยเสียชีวิตของแรงงานสตรีจากมะเร็งปากมดลูก ออกตรวจคัดกรองเชิงรุกถึงโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้เสียเวลาการทำงานและลดความอายเมื่อมีเพื่อนตรวจจำนวนมาก

นายแพทย์ประทีป กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังพัฒนาการส่งต่อรักษาแบบไร้รอยต่อ จากเดิมที่ตรวจฟรีโดย สปสช. แต่เมื่อตรวจพบต้องเข้าสู่ระบบตรวจละเอียด และรักษาโดยสิทธิประกันสังคม ซึ่งในโรงงานเดียวกันอาจต้องรักษากันคนละ รพ.เพราะสิทธิ์ รพ.ต้นสังกัดต่างกัน ทำให้เกิดความคิดในการรักษาแบบกลุ่มก้อน คือเมื่อตรวจเซลมะเร็งระยะเยื้องต้นจะส่งตรวจรักษาใน รพ.ที่มีความพร้อมที่สุดของจังหวัด รักษาทั้งหมดพร้อมกันโดยไม่ต้องส่งตัวไปยัง รพ.ต้นสังกัด ซึ่งได้เริ่มนำร่องจังหวัดแรกคือสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี GDP สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานสตรีจำนวนมาก โดยมี รพ.เปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ เป็นศูนย์กลางการรักษาของจังหวัด ซึ่งหลังทำการรักษาแบบกลุ่มก้อนทำให้สตรีที่ตรวจเจอมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นได้รับการรักษาทันทีจนหายขาดทั้งหมด

“จากความสำเร็จนี้ สปสช.และ สปส. จึงเตรียมขยายการคัดกรองเชิงรุกและการรักษาแบบกลุ่มก้อนนี้ออกไปยัง จ.อุตสาหกรรมปริมณฑล อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และชลบุรี ก่อนขยายต่อไปยังทั่วประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้น หลังจาก สปสช.ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองแล้ว สปส.จะได้เชิญ รพ.ต้นสังกัดทั้งหมดมาหาหนทางออกร่วมกันในการปรับวิธีการขจัดโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นนี้ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานการรักษาที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นของการตรวจคัดกรองมะเร็ง และการรักษาต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ ได้ข้อสรุปว่าจะมีการรักษาแบบเป็นกลุ่มให้กับแรงงานสตรีกลุ่มนี้ โดยครั้งแรกนี้ได้ รพ.เปาโลเมมโมเรียล สมุทรปราการ เป็น รพ.ต้นแบบที่พัฒนาการรักษามะเร็งแบบเป็นกลุ่มก้อน ใช้เวลาในการตรวจรักษาประมาณ 15 นาทีต่อราย พักฟื้นสังเกตอาการ 2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับไปทำงานต่อได้ โดยอาจนับได้ว่าเป็นการตรวจรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นจำนวนมากที่สุดในวันเดียว ของประเทศไทย ทั้งนี้ รพ.ในระบบจะทำเรื่องเบิกจ่ายระหว่างกันในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ตกลงกันไว้ นับเป็นก้าวใหม่ของประกันสังคม ที่รักษาโดยเอาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และจะได้หมุนเวียนไปทำเช่นนี้กับ รพ.ต่างๆในเขต เพื่อยกมาตรฐานงานบริการเรื่องมะเร็งทั้งระบบให้ดีขึ้น เน้นการรักษาให้หายขาด