ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชื่อ “ประชาคมสาธารณสุข” กลายเป็นทีจับตาทันทีภายหลังจากที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันจุดยืนในนามประชาคมสาธารณสุข โดยขอให้รัฐบาลลาออกจากรักษาการ เนื่องจากมองว่าขาดความชอบธรรม และขอให้ทำการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง จนกลายเป็นข่าวร้อนที่ช่วยเพิ่มดีกรีให้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นก่อนวันประกาศชัตดาวน์ รวมถึงภาพเหล่าชาวประชาคมสาธารณสุขกว่า 3,000 คนที่พร้อมใจเข้าให้กำลังใจปลัดกระทรวงสาธารณสุขแม้ว่าจะเป็นวันอาทิตย์สุดสัปดาห์ก็ตาม 

หากถามถึงที่มาที่ไปของประชาคมสาธารณสุข ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อของประชาคมสาธารณสุขปรากฎอยู่สื่อ เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยถูกนำเสนอมาแล้ว จากบทบาทการสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ที่คัดง้างกับกลุ่มแพทย์ชนบทที่คัดค้าน จนกลายเป็นประเด็นร้อนมาแล้วก่อนหน้านี้

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา 

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการรวมเป็นประชาคมสาธารณสุข ต้องบอกว่าในความเป็นจริงได้มีการรวมตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่เป็นแค่การพูดคุยระหว่างชมรมวิชาชีพต่างๆ เท่านั้น โดยแต่ละวิชาชีพต่างก็มีกลุ่มของตนเอง ทั้งที่จัดตั้งเป็นสภา สมาคม หรือแม้แต่ชมรม ซึ่งต่างได้แลกเปลี่ยนและดำเนินการร่วมกันในภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความก้าวหน้าวิชาชีพ การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ และค่าตอบแทน เป็นต้น เปรียบเหมือนกับเบี้ยหัวแตก แต่หลังจากที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนในระบบสาธารณสุขเข้ามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องการให้เกิดความรอบด้านแล้ว จึงได้เริ่มต้นรวมตัวกันทำงาน

 “ตอนแรกที่พูดคุยกันก็ดูว่าจะรวมตัวกันเป็นสภาหรือสมาคม แต่สุดท้ายต่างเห็นตรงกันว่าควรใช้ชื่อประชาคม เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่ผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ในระบบสาธารณสุข โดยเน้นที่การมีส่วนร่วม เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนในการแสดงความเห็น ซึ่งรวมถึงชมรมแพทย์ชนบท แต่อยู่ที่ใครจะเข้าร่วมหรือไม่ เพียงแค่ประสานเข้ามา ไม่มีการปิดกั้น ถือเป็นเวทีความเห็น ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง” พญ.อุทุมพร กล่าว และว่า ทั้งนี้ประชาคมสาธารณสุขไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้ว โดยในระบบสาธารณสุขเราจะมีประชาคมสาธารณสุขในทุกพื้นที่ ทำกันมาหลายปี เพื่อร่วมกันทำงานด้านสุขภาพให้กับประชาชน เรียกว่าเป็นการรวมตัวของทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขในพื้นที่อยู่แล้ว นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการขับเคลื่อนในรูปแบบของสมัชชา เพียงแต่ในส่วนกลางประชาคมสาธารณสุขเพิ่มเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร

พญ.อุทุมพร กล่าวว่า การมีประชาคมมีประโยชน์มากต่องานขับเคลื่อน เพราะช่วยให้ผู้บริหารมีมุมมองที่รอบด้าน บางเรื่องผู้บริหารจะมองเฉพาะในมุมของผู้บริหารเท่านั้น ซึ่งบางเรื่องมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มีผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ซึ่งประชาคมจะทำให้สามารถมองในมุมต่างๆ ได้ ทั้งนี้เรื่องที่ประชาคมสาธารณสุขที่ได้ร่วมขับเคลื่อนและเห็นได้ชัดคือการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรในระบบสาธารณสุข จนเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายทุกวิชาชีพ อย่างไรก็ตามเรื่องปัญหาค่าตอบแทนขณะนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นอยู่ เพราะต้องนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนชุดใหญ่ แต่ติดช่วงการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่ประชาคมสาธารณสุขออกมาประกาศแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้น พญ.อุทุมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางประชาคมได้มีการพูดคุยถึงปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาสองสามเดือนมาแล้ว โดยเริ่มพูดกันในกลุ่มเล็กๆ ก่อน และขยายเป็นกลุ่มใหญ่ในประชาคม และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เริ่มเข้าภาวะที่น่าเป็นห่วง มีแนวโน้มรุ่นแรง จึงได้เริ่มมีการออกแถลงการณ์ของประชาคมออกมา จนนำมาสู่การออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ล่าสุดที่ขอให้รัฐบาลรักษาการลาออก และให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ความเห็นที่ออกมาไม่ได้เป็นการเอียงไปทางการเมืองด้านหนึ่งด้านใด ไม่ได้หนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่ต้องการเสนอทางออกให้กับประเทศ จากการติดตามดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

“แถลงการณ์ประชาคมที่ออกมา ต้องดูว่าเราทำอะไร เราไม่ได้คุยกันแค่วันนี้และพรุ่งนี้ออกแถลงการณ์ ไม่ใช่ แต่เราได้มีการพูดถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงความเห็นในฐานะที่เป็นคนไทยที่ทำงานด้านสุขภาพ” ตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าว  

พญ.อุทุมพร กล่าวว่า ยอมรับว่าการออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์การเมืองของประชาคมสาธารณสุขได้ส่งผลกระทบต่อ นพ.ณรงค์ ต้องเข้าใจว่าท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม เช่นเดียวกับทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเช่นกัน และเมื่อประชาคมมีมติออกมาอย่างไร คนในประชาคมต้องยึดตามนี้ รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย ทั้งนี้หากมองจากภายนอก ประชาคมสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกลุ่มคนเดียวเดียวกัน แต่ยืนยันว่าท่านไม่เคยชี้นำ แต่ท่านเป็นผู้มีบทบาทต่อประชาคมสาธารณสุข หากไม่มี นพ.ณรงค์ที่มีนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมกลุ่มบุคลากรสาขาต่างๆ ในระบบสาธารณสุข เวทีประชาคมวันนี้คงไม่เกิดขึ้น และการดำเนินการเพื่อผลักดันเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็คงยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ ไม่ออกมาอย่างเช่นวันนี้ 

“ประชาคมสาธารณสุขไม่ได้อยู่ภายใต้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และท่านไม่เคยชี้นำ แต่ยอมรับว่าท่านปลัดมีบทบาทต่อประชาคมสาธารณสุข เพราะเป็นผู้ที่ริเริ่มและทำให้ประชาคมสาธารณสุขเกิดเป็นรูปธรรมและเกิดการขับเคลื่อนในหลายเรื่อง โดยท่านเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาคมเช่นเดียวกับทุกคน” ตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าว

พญ.อุทุมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อเสนอตามแถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุขฉบับที่ 3 นั้น เป็นเพียงการแสดงจุดยืน ที่ไม่ยึดประโยชน์ส่วนตัว แต่ยึดบ้านเมืองเป็นหลัก ส่วนรัฐบาลรับฟังหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล รวมไปถึงการเดินหน้าจัดการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป เพราะเราเป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจ คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากกว่านี้ อย่างมากก็แค่ออกแถลงการณ์เพื่อย้ำจุดยืนออกไปเพิ่มเติมเท่านั้น

ประชาคมสธ.มีใครบ้าง

ภาพจากการประชุมประชาคมสธ. ก่อนออกแถลงการณ์ประชาคมสธ. ฉบับที่ 1 วันที่ 14 ธันวาคม 2556

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุข ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2556 ระบุว่า การประชุมประชาคมสาธาณสุข ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมต่าง ๆ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 16 ชมรม ดังนี้

1.       ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

2.       ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 

3.       สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 

4.       ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน

5.       ชมรมรองบริหารโรงพยาบาลศูนย/โรงพยาบาลทั่วไป 

6.       ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

7.       ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน 

8.       ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

9.       ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 

10.    ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

11.    ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 

12.    ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลชุมชน

13.    ชมรมเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 

14.    ชมรมเทคนิคการแพทย์ชุมชน

15.    ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

16.    สมาคมหมออนามัย 

ความเห็นต่างของคนสธ.ที่ไม่ได้อยู่ในประชาคม

ขณะเดียวกัน ใน Facebook page ของประชาคมสาธารณสุขเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย นอกจากมีผู้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของประชาคมสาธารณสุขแล้ว ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง Hfocus ได้รวบรวมมานำเสนอดังนี้

“ไม่รู้อยู่ในประชาคมมั้ย แต่เห็นอ้างว่าประชาคมสาธารณสุข น่าจะเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ถ้ารวมแบบนั้น ผมขอสงวนสิทธิ์ ไม่เห็นด้วยนะครับ แต่ถ้าเป็นแค่บางกลุ่มขอให้เปลี่ยนจากประชาคมสาธารณสุขเป็น อย่างอื่นแทน เช่นแถลงการณ์ของคนสาธารณสุขที่เอาปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง อะไรอย่างนี้ จะทำให้คนหลายคนสบายใจและไม่รู้สึกว่าถูกปล้น สิทธิ์และเสียงของเขาไป”

“ขอสงวนสิทธิ์ ไม่ร่วมในกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่อยากเติมเชื้อไฟทำลายประเทศครับ”

“แม้ผมไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้เลือกแนวทางนอกกติกากของกปปส. ทางออกที่ดีที่สุดคือทำตามกติกาบ้านเมื่อง นั้นคือ "ไปเลือกตั้ง "

“ผมคนสาธารณสุขเหมือนกัน ผมไม่เคยทราบการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้มีสิทธิอะไรในการออกแถลงการณ์แทนผม ถ้าได้ฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ของสาธารณสุข ก็โอเค ผมก็จะเป็นส่วนน้อยที่ยอมรับ แต่ถ้าไม่ใช่่ ผมก็ขอให้คนกลุ่มนี้หยุดการออกแถลงการณ์เถื่อนแบบนี้เสีย”

“บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย แทนที่จะช่วยกันหาทางออก นี่กลับสาดน้ำมันเข้ากองไฟ...เราไม่เห็นด้วยกับมติอัปยศครั้งนี้ครับ”