ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไม่เห็นด้วยที่ผู้ปกครองนำเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง โดยมีเงื่อนไขที่ผู้ปกครองควรพิจารณา 2 ประการ คือ การบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการคุ้มครองความปลอดภัย และการบริหารความเครียด หากพ่อแม่ประเมินแล้วเห็นว่าบุตรที่อยู่ในความดูแลอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย หรือการชุมนุมอาจมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง พ่อแม่ไม่ควรอนุญาตให้เข้าร่วมเขตพื้นที่การชุมนุม ทั้งนี้ครอบครัวจำเป็นต้องมีการสุนทรียสนทนาเพื่อลดความเครียด โดยยึดหลักจุดร่วมที่ไม่มีข้อขัดแย้ง เช่น สันติวิธี ศีลธรรม จริยธรรม จิตสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องที่สนทนากันได้ภายในครอบครัว แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่างในบ้าน การสนทนาในหัวข้อการไม่ใช้ความรุนแรง การสนทนาในประเด็นของการทำอย่างไรให้เกิดศีลธรรม จริยธรรม หรือแม้กระทั่งจิตสำนึก

"ไม่ว่าจะเป็นใครก็อยากเห็นความสงบ คงไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรง และไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็คงไม่มีใครอยากเห็นสังคมที่ไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึก ถ้าคุยกันบนพื้นฐานของหลักการนี้ แม้อยู่คนละขั้วก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้"

น.พ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่าส่วนอื่นที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น การพูดคุยพาดพิงบุคคล หรือองค์กรนำมาสู่ความขัดแย้งได้ง่าย คุยกันบนพื้นฐานที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรามีวิธีป้องกันข้อขัดแย้งสันติวิธีได้อย่างไร สร้างการเรียนรู้วิธีนี้จะทำให้เกิดการพูดคุยว่าเราจะต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ต้องใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ นอกจากนี้ควรหมั่นตั้งสติ สมาธิทุกวัน เพื่อพัฒนาและรู้จักการควบคุมอารมณ์ตนเอง พ่อแม่จำเป็นต้องรู้และฝึกฝนการจัดการความเครียด ตั้งแต่การสุนทรียสนทนาที่มีกติกาที่ดีร่วมกัน การพูดคุยกับลูกตนเอง หากท่านและสมาชิกในครอบครัวมีอาการเครียดที่เห็นได้ชัดควรเข้าปรึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านได้ทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 23 มกราคม 2557