ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยญี่ปุ่นชื่นชมโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนของไทยว่าเป็นระบบที่ดี ดูแลได้ครบถ้วนทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม พร้อมร่วมมือกับไทยศึกษาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นที่ต้องพึ่งพิง หรือเรียกว่า กลุ่มติดเตียง ติดบ้าน ในระยะยาว ให้มีความยั่งยืน ในพื้นที่ 6 จังหวัดต้นแบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-2560 เพื่อนำไปขยายผลในประเทศอาเซียน เชื่อว่าจะลดค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลได้มาก เผยขณะนี้ไทยมีผู้สูงวัยใกล้ 10 ล้านคน ร้อยละ 50 มีโรคประจำตัว

นายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นหรือไจก้า  ( JICA) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการระยะยาวที่ยั่งยืน สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งมีอาการคงที่  แต่ต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การขับถ่าย เป็นต้น หรือที่เรียกว่ากลุ่มติดเตียง ติดบ้าน ซึ่งคาดว่าขณะนี้จะมีประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั่วประเทศ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแล รักษา และพัฒนาการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของผู้สูงอายุ ระงับและป้องกันอาการเจ็บป่วยไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม และให้คำแนะนำเทคนิคการดูแลพยาบาล เพิ่มขวัญกำลังใจแก่ญาติหรือครอบครัว ในการร่วมกันดูแลผู้สูงอายุร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี  ระหว่าง พ.ศ. 2556-2560  ในพื้นที่ชุมชน 6 จังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งชุมชนเมืองหนาแน่น  ชุมชนเมืองทั่วไป  และชนบท   ได้แก่   กรุงเทพมหานคร   เชียงราย นครราชสีมา  สุราษฏร์ธานี นนทบุรี และขอนแก่น  โดยญี่ปุ่นมีแนวคิดจะนำรูปแบบของไทยไปขยายผลในประเทศอาเซียน ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน   เพื่อดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ในการดำเนินโครงการดังกล่าวได้บูรณาการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวง หน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการดูแล  2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารโครงการ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และคณะกรรมการชุดดำเนินงาน มีนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการทั้ง 2ชุด ประกอบด้วย หน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อจัดทำแผนการให้บริการหลายรูปแบบ  เช่น การช่วยเหลือที่บ้าน บริการแบบเช้าเย็นกลับเพื่อรักษาการเข้าสังคมของผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน นวดแผนไทย การประกอบอาหาร การออกกำลังกาย โดยจะมีการจัดอาสาสมัครดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในท้องถิ่น  และหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จะมีระบบการประสานงานแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ทราบ และส่งรถพยาบาลและทีมกู้ชีพฉุกเฉินไปรับถึงบ้าน โดยทีมกู้ชีพจะรู้ประวัติผู้ป่วยและโรคหลักๆ ก่อนล่วงหน้า สามารถให้การดูแลอย่างถูกวิธี เนื่องจากการดูแลรักษาผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากวัยอื่นๆ เพราะอวัยวะหลายส่วนอยู่ในสภาวะที่เสื่อมถอย          

นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าวต่ออีกว่า  จากการเดินทางไปร่วมประชุมความร่วมมือ อาเซียน-ญี่ปุ่น  เพื่อพัฒนาระบบการบริการดูแลสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาค (ASEAN-Japan Seminar on the Regional Cooperative for the Aging Society) ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุมาก เนื่องจากจะเป็นปัญหาใหญ่ในทุกประเทศทั่วโลก และญี่ปุ่นเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุมาก่อนประเทศอื่นๆ และเห็นว่าการดูแลผู้สูงอายุในสถานพยาบาลไม่สามารถบริการได้ครบด้าน  และเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงสนับสนุนให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งจะสามารถให้บริการครบถ้วนทั้งร่างกาย จิตใจและสังคม โดยญี่ปุ่นให้การชื่นชมประเทศไทย ซึ่งได้ทำการศึกษาเพื่อจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุไทยในชุมชนในช่วง 5 ปีก่อน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นหรือไจก้า  ใน 4 จังหวัดคือ เชียงราย สุราษฏร์ธานี นนทบุรี และขอนแก่น พบว่าได้ผลดี และเชื่อว่าไทยเดินมาถูกทาง  ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในครอบครัวในชุมชนอย่างมีความสุข 

องค์การอนามัยโลกรายงานในช่วงปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ.2593 สัดส่วนของประชากรโลกที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว จากประมาณร้อยละ 11  เป็นร้อยละ 22  คือมีจำนวนเพิ่มจาก 605  ล้านคนเป็น 2,000 ล้านคน  ส่วนไทยขณะนี้มีผู้สูงอายุจำนวน 9.5 ล้านคน ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ และประมาณร้อยละ 50 มีโรคประจำตัว มีผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมต้องการคนดูแลประมาณ 265,000 คน 

ทั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพิ่มมาตรการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชนวัยต่างๆ ตามโครงการสุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ หรือกู๊ดเฮลท์ สตาร์ทส์ เฮียร์ ( good health starts here) วิธีการนี้จะช่วยชะลอการเจ็บป่วยของประชาชนให้ได้นานที่สุด  ลดอัตราการเสียชีวิต  ทำให้อายุคาดเฉลี่ยคนไทยเมื่อแรกเกิดสูงขึ้นอย่างต่ำ 80  ปีในอีก 9ปี  เมื่อเปรียบเทียบการพัฒนากับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่าสิงคโปร์ดีที่สุดในเรื่องการดูแลเด็กอายุ 0-4ปี  อัตราตายเพียงร้อยละ  0.7  ขณะที่ไทยกับมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 2.5เท่ากัน สำหรับอัตราตายเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไทยมีร้อยละ 3.9 สูงกว่ามาเลเซียที่มีร้อยละ 3.6  ส่วนในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเวียดนาม ทำให้เวียดนามมีอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าไทย นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว