ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - นายพินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา มีภาคเอกชน เสนอขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ที่จะขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์ และพยาบาล รวมถึง ในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตบุคลากรในสายช่าง ทั้งนี้ สาเหตุที่ภาคเอกชนหันมาสนใจจัดการศึกษามากขึ้น เพราะต้องการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะทางของตนเอง ส่วนหนึ่งถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ และได้บุคลากรที่ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจจริงๆ แต่ในเรื่องค่าเล่าเรียนคงจะต้องสูงขึ้น เพราะในสายปฏิบัติการต่างๆ ภาคเอกชนจะต้องลงทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตจัดตั้งนั้น จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งจะต้องดูความพร้อมทั้งในเรื่องของเงินลงทุน สถานที่ บุคลากร ไปจนถึงหลักสูตร ที่จะต้องได้มาตรฐาน ขณะที่มหาวิทยาลัยในส่วนของภาครัฐ คงจะต้องปรับตัว โดยเน้นคุณภาพในการจัดการศึกษาให้พร้อมต่อการแข่งขันมากขึ้น

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ไม่หนักใจหากภาคเอกชน จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตแตกต่างกัน โดยภาคเอกชนมีเป้าหมายผลิตบัณฑิตที่จบไป และทำงานตามที่ต้องการได้ทันที ดังนั้น บัณฑิตที่จบจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเท่านั้น แต่เจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยทั่วไป คือผลิตบัณฑิตที่มีวิสัยทัศน์ที่สามารถปรับประยุกต์ให้เข้ากับการทำงานได้หลากหลาย

"สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยคือ การที่หลายภาคส่วนมักพูดเสมอว่า อยากให้บัณฑิตที่จบไปสามารถทำงานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาสอนงาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนต้องการการฝึกฝน ขณะที่มหาวิทยาลัยเองพยายามสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานในสายที่เรียน แต่เมื่อออกไปทำงานจริง ก็ยังต้องใช้เวลาฝึกปฏิบัติในสายงานที่เริ่มทำ อยู่ดี ยกเว้นในสายเฉพาะทางจริงๆ เช่น การโรงแรม เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะทำงานได้ทันที แต่เมื่อทำงาน ไปสักพัก เชื่อว่าผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ จะสามารถนำความรู้ที่ได้ในมหาวิทยาลัยไปปรับประยุกต์ใช้ในงานที่หลากหลาย ไม่ใช่รู้เฉพาะทางเท่านั้น" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่อว่า ในส่วนของนักศึกษา หากเลือกเรียนโดยมองอาชีพในอนาคตเป็นหลักแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิที่จะเลือกเรียนได้ตามความถนัด ขณะที่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะต้องเข้าไปดูแลการจัดการเรียนการสอนว่าได้มาตรฐานระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ หรือเป็นแค่ระดับวิทยาลัยเท่านั้น แต่ให้เปิด และใช้ชื่อมหาวิทยาลัย

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 28 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--