ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเรื่องจริงที่เหลือเชื่อ ที่บริษัทบุหรี่เอารัดเอาเปรียบอย่างสุดสุดกับรัฐบาลประเทศลาว

ข้อเท็จจริงคือ บริษัทบุหรี่ต่างชาติสองบริษัท หนึ่งคือบริษัท คอรัลมา อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศฝรั่งเศส และบริษัท เอส 3 ที แอลทีดีจากประเทศสิงคโปร์ ได้ทำสัญญากับรัฐบาลลาวเมื่อปี พ.ศ.2544 ในการร่วมลงทุนตั้งบริษัท ยาสูบลาว แอลทีดี เพื่อผลิตยาสูบจำหน่ายในลาว โดยรัฐบาลลาวถือหุ้น 47% บริษัทคอรัลมา 34% และบริษัทเอส 3 ที 19%

อายุของสัญญาลงทุนนี้มีกำหนด 25 ปี โดยสิทธิประโยชน์ในการลงทุนคือ บริษัทยาสูบลาวแอลทีดีไม่ต้องเสียภาษีจากผลกำไรใน 5 ปีแรก และเสียภาษีสรรพสามิตยาสูบในอัตรา 15% ถ้าต้นทุนผลิตต่ำกว่า 1,500 กีบต่อซองที่บรรจุบุหรี่ 20 มวน แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่า 1,500 กีบ ภาษีสรรพสามิตยาสูบจะเท่ากับ 30% ซึ่งต้นทุนการผลิตรวมถึงค่าใบยาสูบ วัสดุอื่นๆ และค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมถึงแรงงานในการผลิตตลอดระยะเวลา 25 ปี ของสัญญาร่วมลงทุน

ในปี พ.ศ.2544 ที่มีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนนั้น กฎหมายลาวกำหนดให้เสียภาษีสรรพสามิตยาสูบเท่ากับ 50% ของราคาต้นทุนหน้าโรงงาน ต่อมาได้มีการออกกฎหมายปรับเพิ่มอัตราภาษีเป็น 55% ในปี พ.ศ.2548 และเป็น 60% ในปี พ.ศ.2554 แต่บริษัทยาสูบลาวก็ยังยืนกรานในการที่จะเสียภาษีเพียง 15% ของต้นทุนการผลิต ตามข้อตกลงในสัญญาลงทุน แม้ว่ารัฐบาลลาวจะพยายามเจรจาเพื่อขอแก้สัญญาลงทุน เพื่อให้สามารถปรับขึ้นภาษียาสูบ เพื่อให้ประชาชนลาวสูบบุหรี่น้อยลง และรัฐบาลมีรายได้จากภาษียาสูบเพิ่มขึ้น ตามข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบและธนาคารโลกที่ว่า การขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการที่จะทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะในเยาวชนที่มีกำลังซื้อน้อยจะเข้ามาติดบุหรี่น้อยลง

การที่สินค้ายาสูบในลาวเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 15% ของต้นทุนการผลิต (เปรียบเทียบกับของประเทศไทยที่เท่ากับ 87%) ทำให้รัฐบาลลาวขาดรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตจากยาสูบเป็นจำนวนมหาศาล

บริษัทยาสูบลาวแจ้งต้นทุนการผลิตเพียงซองละ 764 กีบ หรือเท่ากับ 3.0 บาท ซึ่งต่ำกว่า 1,500 กีบที่กำหนดในสัญญาการลงทุนทำให้เสียภาษีเพียง 15% ของราคาต้นทุน ผลคือบุหรี่ยี่ห้อที่ขายดีที่สุดคือเอแดง มีราคาขายปลีกที่ 6,000 กีบ หรือประมาณ 22 บาท ซึ่งหากคิดภาระภาษีต่อราคาขายปลีกจะเท่ากับ 19% เปรียบเทียบกับ 72% ของประเทศบรูไน 69% ของประเทศสิงคโปร์ และ 70% ของประเทศไทย

จากการวิเคราะห์ของ ศ.อิศรา ศานติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของเครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA) พบว่าในห้าปีแรกของการดำเนินการตามสัญญาลงทุนดังกล่าว ระหว่าง พ.ศ.2545-2549 รัฐบาลลาวสูญเสียรายได้ภาษีที่พึงได้เท่ากับ 144 พันล้านกีบ และแม้ว่ารัฐบาลลาวจะได้รับส่วนแบ่งกำไรกลับคืนมา 25 พันล้านกีบจากที่ร่วมลงทุน 47% ในบริษัทยาสูบลาว หักตกบวกลบแล้วรัฐบาลลาวยังสูญเสียเงินภาษีที่ควรจะเก็บได้เท่ากับ 119 พันล้านกีบ หรือเท่ากับประมาณ 476 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 12 ปี จำนวนเงินภาษียาสูบที่รัฐบาลลาวสูญเสียไปน่าจะเกินหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลสำหรับประเทศลาวที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

ในขณะเดียวกัน ผลจากการที่อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เก็บเพียง 15% ที่ทำให้บุหรี่มีราคาถูกทำให้ลาวเป็นประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดเป็นอันดับที่สองในอาเซียน โดยในปี พ.ศ.2553 เพศชายสูบ 51.4% และเพศหญิง 3.8%

ซึ่งแน่นอนว่า อัตราการสูบบุหรี่ที่สูงมากเช่นนี้ย่อมหมายถึงประชาชนจะเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นภาระของระบบบริการสาธารณสุขและเศรษฐกิจต่อทั้งประชาชนลาวและรัฐบาล

 ในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวได้มีดำริที่จะเจรจากับบริษัทบุหรี่ที่ร่วมลงทุนในบริษัทยาสูบลาวเพื่อขอแก้ไขสัญญาการลงทุนประเด็นการแช่แข็งอัตราภาษียาสูบจากที่เป็นอยู่ 15% แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะนี้บริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโก ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทเอกชนสองบริษัท (บริษัทคอรัลมา อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัทเอส 3 ที แอลทีดี) ทำให้รัฐบาลลาวถือหุ้นบริษัทยาสูบลาว 47% และบริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโกถือหุ้น 53%

บริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโก เป็นหนึ่งในสามบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ฟ้องศาลปกครองไทย เพื่อล้มกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็น 85%

บริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโก เป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ใหญ่อันดับสองของโลก มีกำไรจากผลประกอบการในปี พ.ศ.2553 เท่ากับ 130,200 ล้านบาท และได้ฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียที่ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ (ห้ามพิมพ์โลโก้เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่) และฟ้องประเทศศรีลังกาที่ออกกฎหมายขยายขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 80%

รัฐบาลลาวก็ต้องเหนื่อยต่อแน่ ในการที่จะยกเลิกสัญญาที่ถูกบริษัทบุหรี่เอาเปรียบอย่างหฤโหดมาตั้งแต่ พ.ศ.2545

บทเรียนกรณีนี้คือบริษัทบุหรี่จะปล้นกลางแดด ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ และยากจนอย่างประเทศลาวหรือในแอฟริกา

ผู้เขียน : นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 มกราคม 2557