ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปการดำเนินงานการพัฒนารูปแบบและนโยบายลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยในพื้นที่ โครงการการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล

วันนี้ (28 มกราคม 2557) ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปการดำเนินงานการพัฒนารูปแบบและนโยบายลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยในพื้นที่ โครงการการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากในเด็กมีต้นเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม คือ การบริโภคน้ำตาลมากเกิน นิยมกินอาหารหรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ในขณะที่การดูแลอนามัยช่องปากไม่สม่ำเสมอ ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กไทยมีฟันผุ และจากผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทยโดยกรมอนามัยพบว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุอยู่มาก โดยพบว่า เด็กที่มีอายุ 3 ปี ฟันน้ำนมผุถึงร้อยละ 52 เฉลี่ย 2.7 ซี่/คน เด็กอายุ 12 ปี หรือประถมศึกษาปีที่ 6 มีฟันแท้ผุร้อยละ 52 เฉลี่ย 1.3 ซี่/คน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร ส่งผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพของเด็ก ที่สำคัญคือกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ยังสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา

ทันตแพทย์สุธา กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข จึงได้รณรงค์ลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาด้านวิชาการ 2) มาตรการเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม และฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ขนมเด็ก 3) สร้างกระแสสังคม และสนับสนุนการลดการบริโภคน้ำตาล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปัจจุบันมีการดำเนินงานครอบคลุม 21 จังหวัด ในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้พัฒนาพื้นที่ตัวอย่างให้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและประเมินผลลัพธ์ในระดับพฤติกรรม เน้นการจัดการอาหารและเครื่องดื่มรอบรั้วโรงเรียน รวมทั้งขยายผลสู่นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมครอบคลุมร้อยละ 72 โดยร่วมกับ สพฐ ขับเคลื่อนผ่านเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และร้อยละ 83.5 ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดอาหารว่างเป็นผัก ผลไม้อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์

"ทั้งนี้ การจัดประชุมภายใต้การรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเด็กไทยไม่กินหวานครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปบทเรียน เพื่อต่อยอดและขยายภาคีเครือข่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพช่องปาก เพื่อสุขภาพของเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งขยายผล "เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” ไปสู่เด็กในระดับมัธยมศึกษาต่อไป” รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด