ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่าอัยการ 45 รัฐในสหรัฐอเมริกา  ร่วมกันเรียกร้องเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาให้สำนักผู้แทนการค้าตัดสินค้าบุหรี่ออกจากการเจรจาเขตการค้าเสรี TPP (Trans Pacific Partnership Agreement) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนแปซิฟิก  เพื่อป้องกันการที่บริษัทบุหรี่สามารถฟ้องร้องยับยั้งกฎหมายควบคุมยาสูบของรัฐต่าง ๆ

การเจรจาทีพีพีซึ่งมีอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2548  มี 12 ประเทศเข้าร่วม อันประกอบด้วย อเมริกา  แคนาดา  เม็กซิโก  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  ชิลี  เปรู  ญี่ปุ่น  บรูไน  เวียดนาม  มาเลเซีย และสิงคโปร์  โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด  กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา  ซึ่งเมื่อปีก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามามาเยือนกรุงเทพฯ  ได้เชิญชวนให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  พิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาด้วย  ทั้งนี้ตามร่างเอกสารการเจรจาในปัจจุบันในหมวดการค้าและการลงทุน  ยังคงมีสินค้ายาสูบอยู่  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้  จะเปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่สามารถที่จะฟ้องทั้งรัฐบาลกลาง  มลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐและรัฐบาลต่างประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าทีพีพี  เพื่อยับยั้งมาตรการหรือกฎหมายควบคุมยาสูบ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพ แต่กระทบต่อผลกำไรของบริษัทบุหรี่ โดยบริษัทสามารถฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วบริษัทบุหรี่จะถูกตัดสินให้แพ้คดีความ  แต่ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรของรัฐบาลอย่างมากในขบวนการต่อสู้คดีกับบริษัทบุหรี่  รวมทั้งทำให้เกิดความล่าช้า กว่าที่กฎหมายแต่ละฉบับจะผ่านออกมาได้  ทั้งนี้รัฐบาลมาเลเซียได้ยืนยันที่จะต้องมีการตัดสินค้ายาสูบออกจากข้อตกลงการค้าทีพีพี

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จะเฝ้าติดตามรัฐบาลไทยว่าจะเข้าร่วมการเจรจาทีพีพีตามคำเชิญของโอบามาหรือไม่  ถ้าเข้าร่วมจะต้องยืนยันที่จะให้ตัดสินค้ายาสูบออกจากข้อตกลง  รวมทั้งจะยืนยันให้มีการตัดสินค้ายาสูบออกจากการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู  ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้