ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุข เผยขณะนี้ภัยจากโรคมะเร็งรุนแรงขึ้น ต่อปีมีคนไทยเสียชีวิตกว่า 60,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ส่วนทั่วโลกมีรายงานเสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน ย้ำเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งสูง ได้แก่ คนอ้วน คอทองแดง สิงห์อมควัน คนที่กินผักผลไม้สดน้อย และไม่ออกกำลังกาย พร้อมแนะให้ประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ชี้หากพบแต่เริ่มแรก โอกาสรักษาหายมีสูง โดยกระทรวงสาธารณสุขเร่งกระจายโรงพยาบาลรักษามะเร็งทั่วประเทศ ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง และดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังถึงบ้าน

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก(World Cancer Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ รณรงค์ให้รู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ เนื่องจากขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตประชาชนวัยแรงงานและผู้สูงอายุมากที่สุด องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกปีละประมาณ 13 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7.6 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.37 ล้านคน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ คาดว่าในอีก 16 ปีคือในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านกว่าคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 61,082 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 414,670 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 คน ในการจัดบริการทั้งการป้องกัน การดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขต เขตละ 5-8 จังหวัด ดูและประชาชนเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านคน ให้แต่ละเขตบริการใช้หลักการบริหารร่วมทั้งงบประมาณ กำลังคน และเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน โดยใช้แผนบริการสุขภาพหรือเซอร์วิส แพลน ( service plan) เป็นเครื่องมือหลักของการพัฒนา ซึ่งได้กำหนดให้บริการของโรคมะเร็งเป็น 1 ใน10 สาขาบริการหลักที่ต้องดำเนินการทุกเขตบริการสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ ป่วยในระยะลุกลามมากกว่าระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาดจึงมีน้อย

ทั้งนี้มาตรการพัฒนาบริการ กำหนดให้ทุกเขตบริการสามารถผ่าตัดมะเร็ง รักษาด้วยเคมีบำบัด และขยายการรักษาด้วยรังสี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งเร็วขึ้น ได้รักษาใกล้บ้าน โดยได้รับการผ่าตัดใน4 สัปดาห์ ได้รับยาเคมีบำบัดใน 4 สัปดาห์ และได้รับการฉายแสงระงับเซลล์มะเร็งแพร่กระจายใน 6 สัปดาห์