ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - นายเสาวณีย์ กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความนิยมการใช้สมุนไรพปอบิด มาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวาน แต่พบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการไตวายตามมา ว่า ตามตำราการแพทย์แผนไทย ปอบิด เป็นสมุนไพรที่มีสารสำคัญอยู่ที่รากและเปลือกเป็นจำนวนมาก เมื่อทบทวนตำรายาในต่างประเทศ มีหลายประเทศนำมาใช้ เช่น อินเดีย ใช้รากผสมขมิ้นรักษาแผลอินโดนีเซีย ใช้รักษากระเพาะอาการ พยาธิตัวตืด ประเทศแถบมลายู บำรุงสุขภาพเด็กแรกเกิด เป็นต้น

"งานวิจัยยังพบว่าปอบิดมีผลในการรักษาเบาหวาน สามารถลดน้ำตาลในหนูทดลองได้ แต่มีผลข้างเคียงสามารถทำลายตับหนูได้ และเกิดการกระตุ้นหัวใจในกบโดยสมุนไพรดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยด้านพิษวิทยา แต่มีงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ โดย รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยลัยมหิดล พบว่า แม้ปอบิดจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง และผู้ที่จะใช้ต้องตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต" นางเสาวณีย์กล่าว

นางเสาวนีย์ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีตับอ่อน ไต หัวใจ ไม่แข็งแรงและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนหากดูแลสุขภาพไม่ดี ซึ่งหลักการใช้สมุนไพรเป็นยานั้นไม่ควรกินเกิน 7 วัน เพราะปริมาณสารเคมีจากสมุนไพรควบคุมได้ยาก หากจะใช้สมุนไพรในการรักษาโรคไม่ควรกินต่อเนื่อง หรือกินอาหารเป็นยาแทน เพราะปริมาณความเข้มข้นของสมุนไพรที่ได้จะมีความเข้มข้นต่างกัน เช่น กินผักแกล้ม หรือ น้ำคั้น เช่น ใบกะเพรา ใบบัวบก ก็มีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ เช่นกัน แต่ต้องใช้หลักการเดียวกัน คือ สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง