ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - หลัง 8 ปี จากจุดเริ่มต้นนับหนึ่งของการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล ผลักดันโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถเดินหน้าจัดตั้งกองทุนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 7,776 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 99.68 เพื่อดูแลสุขภาพประชากร 56.66 ล้านคน

ทว่าโครงการนี้เริ่มต้นจากแนวคิดมุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการระดับปฐมภูมิเพื่อให้เป็นหน่วยบริการที่ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ตามแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทั้งการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม ดำเนินงานในรูปแบบกองทุนรวม เป็นการลงขันงบประมาณร่วมกันระหว่าง สปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

แต่การดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลที่ผ่านมา ต้องนับว่าเป็นแค่ยุคเปลี่ยนผ่านเท่านั้น เนื่องจากเป้าหมายสำคัญคือ การถ่ายโอนภารกิจกองทุนสุขภาพตำบลทั้งหมดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบ ซึ่งมอบให้เป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด โดยท้องถิ่นเป็นเจ้าของกองทุนสุขภาพตำบลโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เล่าว่าจากนโยบายแผนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปี 2543-2552 กำหนดให้โอนงบประมาณร้อยละ 35 ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงกำหนดโอนงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปยังท้องถิ่นเช่นกัน เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่จะเดินหน้าไปด้วยดี หากท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำและดำเนินการ

เบื้องต้น สปสช.จึงกำหนดโอนงบประมาณในส่วนนี้ เริ่มต้น 37 บาทต่อคนต่อปีให้กับท้องถิ่น โดยมีข้อแม้ว่าท้องถิ่นเองที่รับงบประมาณจะต้องมีส่วนร่วมลงขันในกองทุนนี้ในรูปแบบกองทุนรวมหรือแมทชิ่งฟันด์และต้องดำเนินการภายใต้กรอบที่ทาง สปสช. เป็นผู้กำหนด เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก การจัดบริการตามสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มุ่งเป้าไปยังเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ปรากกว่ามีท้องถิ่นจำนวนหนึ่งสนใจเข้าร่วม เนื่องจากมีนโยบายที่ตรงกับเป้าหมายของทาง สปสช. ในการดูแลสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งต่อมามีท้องถิ่นต่างๆ สนใจเข้าร่วมมากขึ้น จนปัจจุบันเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ทั่วประเทศ

"กองทุนสุขภาพตำบลที่จัดตั้งขึ้นนี้ สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งรวมทั้งด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะการป้องกันโรค ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดภาวะการเจ็บป่วยของประชาชนลงได้ นอกจากนี้การให้ท้องถิ่นดำเนินการยังส่งผลดี เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบททางสุขภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะท้องถิ่นในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงเป็นหน่วยงานที่รู้ปัญหาดีที่สุด ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาสุขภาพตรงเป้าหมาย" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ทั้งนี้การบริหารกองทุนสุขภาพตำบล ที่ผ่านมาเป็นรูปแบบการบริหารโดยคณะกรรมการภายใต้กรอบ สปสช. มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เพียงแค่ธุรการเท่านั้น ไม่มีอำนาจบริหาร

นพ.ประทีปบอกว่า แต่หลังจากการดำเนินกองทุนสุขภาพตำบลไประยะหนึ่ง พบว่าเรื่องสุขภาพประชาชน ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การดูแลด้านระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่คำว่าสุขภาพได้กินความรวมไปถึงคุณภาพชีวิต และสวัสดิการทางสังคมที่ต้องได้รับการดูแลควบคุม ซึ่งการกำหนดกรอบการจัดการกองทุนสุขภาพตำบลของทาง สปสช. จึงทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีแนวคิดที่จะเปิดกว้างให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร แต่ยังคงอยู่ภายใต้คณะกรรมการที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วม

ซึ่งถือเป็นเฟดที่สองของงานกองทุนสุขภาพตำบลที่จะคลายกรอบหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ เปิดให้ท้องถิ่นมีบทบาทบริหารมากขึ้น โดยเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศแต่ติดช่วงยุบสภาและสถานการณ์ทางการเมือง

"การที่จะทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีได้ต้องอาศัยหลายปัจจัย ไม่แต่เฉพาะการกำหนดให้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อดูแลงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงสุขภาพจิตที่ดี จึงจะทำให้ชาวบ้านเกิดสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งที่ผ่านมามีท้องถิ่นที่นำเสนองานพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขอใช้เงินกองทุน อาทิ การตั้งศูนย์เด็กเล็ก การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ติดที่กรอบหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยืดหยุ่นการใช้งบประมาณในกองทุนสุขภาพตำบลเพื่อทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น เพื่อให้ตรงบริบทของท้องถิ่น" นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้มองว่าการเปิดกว้างการใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล ไม่เพียงแต่จะทำให้งานดูแลสุขภาพประชาชนดีขึ้น แต่ยังส่งผลให้มีท้องถิ่นร่วมลงขันงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินงานต่างๆ ดูแลประชาชนจากงบประมาณกองทุนนี้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการตอบรับจากชาวบ้านมากขึ้น

ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุขผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองว่ากองทุนสุขภาพตำบลที่ผ่านมาถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน การที่ สปสช.จัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไว้ โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใส่งบประมาณสมทบและทำงานตามที่กำหนด ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการดึงให้ท้องถิ่นจากเดิมที่อาจไม่สนใจงานด้านสุขภาพ ให้หันมาทำงานด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ของ สปสช.คือ การทำอย่างไรให้มีการโอนถ่ายงานกองทุนสุขภาพตำบลไปยังท้องถิ่นทั้งหมด ทั้งเป็นผู้คิดแผนงาน ดำเนินงาน รวมถึงการใช้งบประมาณของท้องถิ่นเองดำเนินการ หลังจากที่ สปสช.ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดกรอบและหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุน โดยท้องถิ่นมีหน้าที่เพียงดำเนินการตามเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการกันไม่ให้มีการนำงบประมาณกองทุนไปใช้ดำเนินงานอื่นที่ไม่ใช่งานด้านสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ บอกด้วยว่าแนวทางการเดินหน้ากองทุนสุขภาพตำบลหลังจากโจทย์ใหญ่ คือเราจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท เป็นผู้คิดและจัดทำแผนสุขภาพในพื้นที่เอง รวมถึงการรับผิดชอบดูแลงานบริการปฐมภูมิ เพราะอย่างไรในที่สุดงบประมาณก้อนนี้ต้องโอนไปท้องถิ่นอยู่แล้ว

"ขณะนี้มีหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลได้ดี ทั้งยังได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน เป็นกองทุนที่ทำประโยชน์กับคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งมีหลายแห่งสามารถนำมาเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ได้" นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

'แต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบททางสุขภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะท้องถิ่นในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงเป็นหน่วยงานที่รู้ปัญหาดีที่สุด ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาสุขภาพตรงเป้าหมาย'  ประทีป ธนกิจเจริญ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557