ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีเสวนา กปปส.-หมอ "สุเทพ" ชง 5 ข้อ เชื่อรัฐไร้ทางไป มั่นใจไม่นานล้ม แพทย์หนุนแก้ก.ม.อื้อ รื้อองค์กร

เวบไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เวลา 10.00 น.วันที่ 8 ก.พ. ที่ห้องประชุมชั้น5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) จัดกิจกรรมสานพลังสู่การปฏิรูป เป็นครั้งแรก ซึ่งวันนี้(8ก.พ.) เป็นการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ในกลุ่มสาขาแพทย์พยาบาล กลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยมีตัวแทนแพทย์โรงพยาบาลมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสงขลานครรินทร์ รวมทั้งตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มต่างๆ ทางการแพทย์

ทั้งนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวเปิดงานว่า  การเริ่มต้นวันนี้มีความหมายกับการปฎิรูปประเทศตามที่กปปส. ตั้งใจไว้ และสิ่งที่เคยประกาศบนเวทีเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของการปฎิรูปประเทศเป็นเพียงการประมวลภาพความต้องการของประชาชนเพียงกว้างๆ 5 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการทางการเมือง 2.ปฏิรูปปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ 3.ปฏิรูปการกระจายอำนาจการปกครอง 4.ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำในสังคม และ5.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลักคิคือใช้เวลาไม่มากจะต้องให้เสร็จภายใน 18 เดือน หากนานกว่านั้นรัฐบาลชั่วคราวอาจยึดติดอำนาจ คงได้เป่านกหวีดอีก ถ้าทำได้ประเทศจะไม่เสียหาย

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า พวกเราไม่ได้ต้องการช่วงชิงอำนาจรัฐบาล เพราะการตั้งรัฐบาลชั่วคราวตนก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำงานเสร็จก็กลับบ้านไม่ลงเลือกตั้งอีก และอาจเสนอว่าใครที่มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลจะไม่ต้องลงเลือกตั้ง ให้เว้นวรรค1-2 สมัย รวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วยเพื่อความบริสุทธิ์ และเมื่อวางกฏเกณท์เสร็จก็จะพิมพ์เขียวต่างคนกลับไปทำอาชีพตนเอง ทั้งนี้ระบบส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อนหน้านี้ที่คิดดว่าดี แต่ตอนนี้ก็คิดว่าไม่ใช่แล้ว เพราะมีทั้งเจ้าของผ่อน นักเลง มีคนดีน้อยมาก รวมทั้งพวกที่ร่วมลงหุ้นก็พรรคการเมืองก็มาอยู่ในบัญชีรายชื่อทั้งนั้น และขณะนี้เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางไป ไม่มีทางอยู่ได้แล้ว จะเอาหน้าหรือหัวลง หรือวิธีไหนก็เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามครั้งนี้เป็นเวทีเสวนาครั้งแรกและสัปดาห์หน้าตนจะส่งสารไปยังอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้จัดเสวนาเพื่อระดมสมองทำพิมพ์เขียวลักษณะนี้ และอยากให้ส่งสัญญาณไปยังองค์กรเอกชน โดยเฉพาะ7องค์กรธุรกิจที่เคยเคลื่อนไหวแต่ขณะกลับยังนิ่งเฉยอยู่ เนื่องจากอยากให้มาช่วยคิด เพราะมวลชนที่เคลื่อนไหวไม่ได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งขอเดาว่าการที่นิ่งเฉยเพราะยังไม่รู้ว่าข้างไหนจะชนะหรือแพ้

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า เวทีนี้มี 3 เงื่อนไขที่จะระดมความคิด คือ 1.การก้าวเข้าสู่รัฐาธิปัตย์ 2.การมีรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อเปลี่ยนผ่าน และ3.การมีสนช. พร้อมรัฐบาล โดยจะขอถามว่า 18 เดือน ต้องการปฏิรูปอะไรบ้าง เห็นด้วยกับ 5 ประเด็นของกปปส. หรือจะเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ และขอเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอต่อ กปปส.

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่นามา ที่ทำงานปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนายอานัน และสมัชชาปฏิรูป ของนพ.ประเวศ วะสี ที่ทำงาน 3 ปี ซึ่งดูแล้วมติสมัชชาปฏิรูปรวมกับสถาบันทางการศึกษา รวมทั้งทีมนักวิชาการที่ทำด้านพลังงาน คิดว่าเนื้อหาประมาณ 80% ที่เหลือ 20% เป็นการศึกษาต่อยอด การที่นพ.ประเวศทำมานั้นก็มีสารัตถะมาก ถ้าประชาชนหยุดไป กลไกศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช. หรือองค์กรอื่นๆ จะถูกแทรกแซงจากระบอบทักษิณเหมือนเดิม

ขณะที่พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่าแนวทางการปฏิรูปต้องไม่ยึดติดกับแนวปฏิรูปเดิมๆ โดยต้องเอาคนเข้าร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้มีความหลากหลายเข้าไว้และควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้อำนาจของประชาชนเป็นรูปธรรมและประชาชนต้องมีอำนาจในการเสนอปัญหาด้วย

จากนั้นนพ.พลเดช สรุปว่า จากการพูดคุยของบุคคลากรทางการแพทย์ ได้ความเห็นว่า การปฏิรูปต้องมีการดูแลป้องกันควบคุมความรุนแรงในระหว่างการปฏิรูป และกระบวนการปฏิรูปต้องเปิดรับคนทุกสีไม่ยืดติดตำราหรือพิมพ์เขียว แต่ให้นำมาเป็นแนวทาง จัดให้มีสภาประชาชน เพื่อนำไปสู่พัฒนาการมีส่วนรวมของประชาชน และทำงานควบคู่กับสภานิติบัญญัติ และต้องปฏิรูปองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เนื่องจากจัดตั้งมานานแล้วจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ส่วนด้านกฎหมาย ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พระราชการบัญญัติการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ บางส่วน ขณะที่การออกกฎหมายกระจายอำนาจต้องตรวจสอบความพร้อมแต่ละจังหวัดด้วยว่ามีความพร้อมหรือไม่