ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช.ได้จัดประชุมชี้แจงความคืบหน้าผลการดำเนินงานกองทุนค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในการทำหน้าที่บริหารกองทุนค่ารักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว เพื่อให้เกิดระบบคุ้มครองความมั่นคงด้านสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิ์อื่นๆ และลดภาระความเสี่ยงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้น มีความเสมอภาคและทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง และมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 เป็นต้นมา โดยให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนนั้น

จากผลการดำเนินงาน พบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 687,626 คน จาก อปท. (อบต./เทศบาล/อบจ.) 7,851 แห่ง ในจำนวนนี้มีการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง 297,390 คน คิดเป็น 43.25% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด สปสช.ได้รับเงินโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น งวดแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.56 ที่ผ่านมา มีการใช้บริการไปแล้ว 272,763 ครั้ง เป็นเงิน 552.1 ล้านบาท และ สปสช.ได้ทำหน้าที่การจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาล ซึ่งแบ่งเป็น 1.กรณีเบิกจ่ายตรง คือผู้มีสิทธิ์เมื่อไปรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่าย พบว่ามีสถานพยาบาลส่งข้อมูลเบิกจ่ายตรงเข้ามา 882 แห่ง โดยมีผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ 230,679 ครั้ง จำนวนเงินเรียกเก็บทั้งหมด 462.5 ล้านบาท แบ่งเป็น กรณีผู้ป่วยนอก 216,537 ครั้ง เป็นเงิน 214.7 ล้านบาท และผู้ป่วยใน 14,142 ครั้ง เป็นเงิน 247.8 ล้านบาท

2.กรณีที่ผู้ป่วยสำรองเงินไปก่อน ทั้งหมด 42,084 ใบเสร็จ เป็นเงิน 86.9 ล้านบาท ขณะที่การให้บริการสายด่วน สปสช. โทร. 1330 นั้น มีผู้มีสิทธิ์ อปท. โทร.เข้ามาสอบถาม 8,085 ราย โดยสอบถามรายละเอียดเรื่อง การลงทะเบียนสิทธิ์ การตรวจสอบสิทธิ์ วิธีใช้บริการ สิทธิประโยชน์ และการสำรองจ่ายเงินไปก่อน และมีกรณีให้ช่วยประสานหาเตียงด้วย

ทั้งนี้ สปสช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่บริการกองทุน ชี้แจงว่า ในการใช้บริการนั้น สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับ สปสช. ซึ่งจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับในส่วนที่สถานพยาบาลจะเรียกเก็บเงินจาก สปสช.นั้น ทาง สปสช.ได้พัฒนาการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการทยอยโอนเงินให้กับโรงพยาบาลและ อปท.ไปแล้วรวม 431 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการทำความเข้าใจกับหน่วยบริการที่ยังมีปัญหาในเรื่องของระบบเบิกจ่ายตรงเพื่อ ขรก.ส่วนท้องถิ่นใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการเรียงสิทธิหมายถึง ขรก.ส่วนท้องถิ่นที่เป็นข้าราชการทั่วไปอยู่แล้วจะใช้สิทธิ์เดิมหรือเปลี่ยนมาใช้สิทธิ์ของ ขรก.ส่วนท้องถิ่นก็ได้ หรือหากมีปัญหาไม่เข้าใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330

นายสมดี คชายั่งยืน

ด้าน นายสมดี คชายั่งยืน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.56 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบให้ข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่น ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สามารถเข้าถึงการรักษาที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการสำรองจ่ายค่ารักษา โดยใช้สิทธิ์รับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินการ เพื่อเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุขร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ส่งเสริมจัดระบบให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับความจำเป็นด้านสุขภาพ ลดปัญหาการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงาน อปท. โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดภาระค่าใช้จ่ายของ อปท.ที่มีขนาดเล็ก มีงบประมาณค่ารักษาพยาบาลน้อย ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติเพื่อประชาชน

นายสมดี กล่าวว่า ในช่วงเวลา 4 เดือนเศษ เราพบว่า ปัญหาต่างๆ ยังมีอยู่ เช่น ขรก.ส่วนท้องถิ่นยังไม่รู้เรื่องของรายละเอียดในการใช้สิทธิ์ หรือนายก อปท.บางท่านมีสิทธิ์ซ้ำซ้อน ซึ่งไม่รู้ว่าตนเองควรจะใช้สิทธิ์ใดบ้าง หรือแม้แต่เรื่องของระบบข้อมูล การเบิกซ้ำซ้อน ซึ่งตรงนี้เราคงต้องมีการปรับปรุงไปตลอด เพราะเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับ ขรก.ส่วนท้องถิ่น ในส่วนพื้นที่กันดาร ทางกรมฯ ได้เปิดสายด่วน และไลน์กรุ๊ป เพื่อให้ ขรก.ส่วนท้องถิ่นได้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่ใช้บริการ ส่วนเรื่องการประสานสิทธิ์กับสถานพยาบาลคงต้องเป็นหน้าที่ของ สปสช.จะเป็นผู้ประสานเอง

สำหรับงบประมาณที่ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งไว้ในเบื้องต้น คือ 7 พันล้านบาท โดยในเบื้องต้นได้จัดสรรค่ารักษาพยาบาลให้กับ สปสช.จำนวน 4 พันล้านบาท ขณะนี้ได้จ่ายงวดแรกให้กับทาง สปสช.ไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.56 จำนวน 2 พันล้าน ส่วนอีก 2 พันล้านบาทคาดว่าจะจ่ายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ งบส่วนที่เหลืออีก 3 พันล้านบาทเป็นการสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งหากงบสำรองไม่พอจะพิจารณาให้ สปสช.จะเป็นผู้สำรองจ่ายไปก่อน และจะมีการเบิกคืนให้ในภายหลัง

นายสรณะ เทพเนาว์

ด้าน นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมา อปท.บางแห่ง ถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับ ขรก.อปท. หรือบางแห่งไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาทำให้มีการดึงงบจากส่วนต่างๆ ไปใช้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารงานของพื้นที่นั้นๆ ได้

"ที่ผ่านมาผมเคยได้ยินเรื่องของสวัสดิการ ขรก.อปท.มานานหลายรัฐบาลมาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมเสียที เพิ่งจะมาสำเร็จในรัฐบาลนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงานได้อีกทางหนึ่ง"

เช่นเดียวกับ นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ปลัดเทศบาลตำบลบางงา ในฐานะประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐให้สิทธิ์ข้าราชการท้องถิ่นเบิกจ่ายตรงได้เป็นเรื่องที่ดีเพราะสิทธิ์ด้านการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยเจ็บป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนเพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าท้องถิ่นมีงบประมาณจำกัด ซึ่งการใช้บริการในช่วงแรกที่มีปัญหาอาจเป็นเพราะสถานพยาบาลบางแห่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิ์ที่ ขรก.ส่วนท้องถิ่นได้รับถึงแม้ตัวผู้ใช้บริการจะรู้ว่าใช้สิทธิ์อะไรได้บ้างก็ไม่สามารถไปอธิบายให้เจ้าหน้าที่เข้าใจได้ ในเรื่องนี้อยากให้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติได้รับรู้ เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลระบบการทำงานแตกต่างกัน

นอกจากนี้ นายศักดิพงศ์ ยังกล่าวอีกว่าสิ่งที่กังวลคือยังไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องของมาตรฐานการรักษาและคุณภาพยาที่ได้รับถึงแม้จะได้สิทธิ์เทียบเท่าข้าราชการ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักได้ ตลอดจนการให้บริการก็อาจไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่นนี้นอกจากจะให้สิทธิ์ข้าราชการส่วนท้องถิ่นและครอบครัวเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยไม่ต้องสำรองจ่ายแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ด้วย