ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสปสช.เผยสปสช.และสธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ สปสช.สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพระบบบริการปฐมภูมิ ดูแลประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เผย ปี 56 จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจเขตเมือง เพิ่มเป็น 372 แห่งแล้ว พร้อมเร่งพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิได้มาตรฐาน ล่าสุดผ่านเกณฑ์แล้ว 8,663 แห่ง หรือร้อยละ76 ขณะที่ปี 57 เดินหน้าทำตัวชี้วัดคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการมากขึ้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบบริการปฐมภูมิถือเป็นกลไกหนึ่งในระบบการรักษาพยาบาล ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป แต่ยังช่วยลดปัญหาการรอคิวรักษาและลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากเป็นหน่วยพยาบาลทำหน้าที่การคัดกรองผู้ป่วย พร้อมกันนี้ยังมีภารกิจส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมไปถึงการฟื้นฟูผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ทาง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อให้มีจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิที่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน

นพ.วินัย กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานตามแผนงานสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิของทาง สปสช.ส่งผลให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมืองเพิ่มขึ้น โดยปี 2556 มีการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจเพิ่มเป็น 372 แห่ง เกินจำนวนจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเพิ่มจากปี 2555 จำนวน 80 แห่ง ส่งผลให้ปี 2556 มีครอบครัวที่มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจดูแลถึงบ้านเพิ่มเป็นร้อยละ 72 จากเดิมปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 57.97

ทั้งนี้นอกจากการเพิ่มจำนวนศูนย์บริการสุขภาพชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจแล้ว การพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้ได้ตามมาตรฐานบริการยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทาง สปสช.ได้ส่งเสริมมาโดยตลอด ส่งผลให้มีจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2553 มีหน่วยบริการผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียง 4,486 แห่ง จาก 11,260 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 40 แต่ในปี 2556 จำนวนหน่วยบริการผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 8,663 แห่ง จาก 11,329 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 76 โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4,177 แห่ง

“ในปี 2557 สปสช.ได้จัดทำตัวชี้วัดคุณภาพและผลงานบริหารปฐมภูมิ อย่างเช่น หญิงมีครรภ์ได้รับการฝากครรภ์ 5 ครั้งตามเกณฑ์ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุ 30-60 ปี ภายใน 5 ปี อัตราการใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิกับแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ การผลิต การจัดหา และการกระจายด้านบุคลากรในระบบบริการปฐมภูมินับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว นักกายภาพบำบัด และพยาบาลเวชปฎิบัติ ซึ่งยอมรับว่ายังมีจำนวนไม่เพียงพอเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วย ดังนั้น สปสช.จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันที่เกี่ยวข้อง อาทิ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สมาคมนักกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย และสภาการพยาบาล เป็นต้น เพื่อเพิ่มการผลิตบุคลากรที่จำเป็นเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลิตบุคลากรเข้าสู่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ในระดับหนึ่ง