ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - ลูกจ้าง อปท.พ้อ จ่ายสมทบเข้าประกันสังคม แต่ใช้สิทธิ์ไม่ได้ บ่นอยากย้ายไปใช้สิทธิ์ 30 บาท ด้านรองเลขาธิการ สปส.ยืนยันประกันสังคมดูแลทุกคน ยกเว้นกลุ่มลูกจ้างของรัฐทั้งหมด-พนักงานราชการ-ลูกจ้างองค์การมหาชน ลูกจ้าง ปอท.-ครูเอกชน-ลูกจ้างมูลนิธิ” ในกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน เหตุไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทน แต่หากเจ็บป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานดูแลเต็มที่

นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกจ้างพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 3 แสนคน ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 5% นายจ้างต้องจ่ายสมทบอีก 5% แต่ในทางปฏิบัติกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถใช้สิทธิ์ผู้ประกันตนไปรักษาพยาบาลในเวลาราชการได้ เพราะไม่มีแนวทางการเบิกจ่าย โดยทางสำนักงานประกันสังคมอ้างว่าคนเหล่านี้เป็นพนักงานของราชการ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยในเวลาราชการจะต้องเบิกจ่ายกับหน่วยราชการต้นสังกัด ในขณะที่กฎหมายกองทุนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะให้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเฉพาะข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างพนักงานชั่วคราวของหน่วยงาน

นายนภดลกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าในเมื่อคนเหล่านี้เสียเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนก็ควรได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลด้วย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าเขาต้องเสียเงินไปฟรีๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นเขานำเงินจำนวนดังกล่าวมาซื้อประกันสุขภาพของเอกชนยังจะได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ทางหนึ่งคือการให้เข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยอาจจะหักเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตรา 1% ก็ได้

“ปี 2558 ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คนไทยยังไม่มีหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียมกัน แต่กลับไปให้สิทธิ์คนต่างชาติแทน” นายนภดลกล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า กรณีการไม่ให้บริการรักษาพยาบาลในเวลาราชการไม่เป็นเรื่องจริง ไม่เคยมีการสั่งการให้ดำเนินการกฎเกณฑ์แบบนี้ แต่ปัญหาคาดว่าน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะขณะนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ กฎหมายกองทุนเงินทดแทนที่บริษัทเอกชน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกจ้างบริษัทนั้นๆ ในขณะที่ส่วนราชการ มูลนิธิ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ถูกยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หากลูกจ้าง พนักงานของหน่วยงานเหล่านี้เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทนก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อดูแลเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลให้ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ส่วนกฎหมายประกันสังคมที่เขียนขึ้นมาภายหลัง เพื่อดูแลในส่วนที่นายจ้างยังไม่ได้ดูแล คือกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน ตรงนี้ สปส.จะเป็นคนดูแลให้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า สปส.ทอดทิ้งคนกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากกฎหมายเขียนเอาไว้อย่างนี้ ก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนตัวก็อยากให้มีการแก้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือเรื่องนี้มาตลอดคุยกันเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความพร้อมในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

“ถ้าเป็นการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ถ้าจะว่าไปแล้ว อปท.ก็ต้องดูแลเขา ซึ่งจริงๆ แล้วดูแลมากกว่าประกันสังคมด้วยซ้ำไป แต่กองทุนทดแทนก็คล้ายๆ กับบริษัทประกันของรัฐ ใครที่จ่ายเงิน กองทุนก็จ่ายให้ ใครไม่จ่ายเงิน กองทุนก็ไม่จ่ายให้ แต่กฎหมายบังคับให้นายจ้างเป็นผู้ดูแลให้ ยืนยันว่าความรับผิดชอบเป็นของนายจ้างที่ต้องดูแลให้” นพ.สุรเดชกล่าว

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ลูกจ้างของรัฐทั้งหมด พนักงานราชการ ลูกจ้างองค์การมหาชน ลูกจ้าง ปอท. ครูเอกชน ลูกจ้างของมูลนิธิ กลุ่มคนเหล่านี้พวกนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน แต่หลักการคือนายจ้างต้องดูแลและจ่ายให้ ส่วนนายจ้างไม่ดูแลและจ่ายให้ก็ต้องต่อว่านายจ้าง ส่วนตัวอยากดูแลทั้งหมด อยากจะทำรวมไปถึงลูกจ้างของรัฐบาล อยากให้ทุกคนมีหลักประกัน ไม่อยากให้มีข้อยกเว้น.

ที่มา: http://www.thaipost.net