ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ - คำสั่งจากกรมบัญชีกลาง เกี่ยว กับแนวทางการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายา ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 ตามประกาศกรมบัญชีกลางเลขที่ กค.0422.2/ว.356 ได้ออกระเบียบการกำหนดจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ดังนี้...

กรณีการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic Name) จะมีการบวก กำไรให้สูงถึงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา แต่การสั่งจ่ายยาต้นแบบ (Original) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรค่ายาได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อได้ และไม่เกินกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด

ผลสะท้อนที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตระหนกและหวั่นเกรงกับผลกระทบที่จะเกิดตามมาอีกมาก

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา บอกว่า นโยบายดังกล่าวตอนต้นถือเป็นคำสั่งที่ไม่ค่อยถูกต้อง เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายเกี่ยวข้อง และผลบังคับใช้มีระยะเวลาที่สั้นเกินไป

“หากไม่ได้พิจารณาคำสั่งให้รอบคอบจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลรัฐค่อนข้างมาก...เท่าที่คุยกับเภสัชกรระดับปฏิบัติ เขาก็ยังไม่ทราบว่ากระทบแค่ไหน เข้าใจว่ารัฐไม่ได้ประกาศโดยทั่วไปแต่เป็นคำสั่งยิงตรงมาที่โรงพยาบาล และในที่สุดเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชน”

ประเด็นที่สำคัญคือ คุณภาพการรักษาที่อาจด้อยกว่า

นายแพทย์เจตน์ สะท้อนว่าหากโรงพยาบาลรัฐไปใช้ยาทดแทน เช่น ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือบางครั้งทำให้ผู้ป่วยไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ทำให้ในส่วนโรงพยาบาลต่างๆ ปกติต้องรัดเข็มขัดอยู่แล้ว เพราะประสบปัญหาจากค่าเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ...

สถานการณ์ทางการเงินการคลังของโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบ อาจจะกระทบกับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกระทบกับประชาชน

“คำสั่งนี้มาจากกรมบัญชีกลางไม่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ตรงไปตรงมา กรมบัญชีกลางเท่าที่รู้จัก ผมไม่คิดว่าท่านจะทำแบบนี้...มันต้องมีเบื้องหลัง ต้องมาดูว่าใครได้ประโยชน์ หรือใครเสียประโยชน์”

คณะกรรมาธิการได้นัดประชุม เพื่อสอบถามความเห็นให้รอบด้านจากชมรมข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง...

เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์...โรงพยาบาลทั่วไป ผู้ประกอบการ เป็นต้น จากนั้นก็จะนำมติจากที่ประชุมไปทำข้อเสนอ ยื่นต่อกรมบัญชีกลางและผู้จัดทำนโยบาย เพื่อให้เลื่อนชะลอออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาหารือกัน

แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท) เสริมว่า คำสั่งคือการจำกัดการใช้ยาต่างประเทศและสนับสนุนให้ใช้ยาที่ผลิตในประเทศ ยาต้นแบบ (original) เป็นยาที่ใช้กับคนไข้กลุ่มจำเพาะโรคกับแพทย์เฉพาะทางเป็นส่วนใหญ่

หากถูกจำกัดการใช้จะทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากและกระทบกับคนไข้มาก การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่เคยได้ อาจจะกระทบกับการทำงาน ชีวิตประจำวันและท้ายสุดกระทบต่อสังคม

ทางด้านโรงพยาบาลเองก็อาจจะเอายากลุ่มนี้ออกจากบัญชียาโรงพยาบาลได้ ทำให้ไม่มียาตัวนี้ใช้ และหากมีคนไข้ที่ต้องใช้ยาดังกล่าวก็ทำให้ต้องมีการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลแพทย์

โดยคำสั่งแล้วจำกัดเฉพาะราชการเท่านั้น แต่ยากลุ่มดังกล่าวเป็นยาราคาแพง คนที่ใช้เป็นกลุ่มราชการ เมื่อข้าราชการใช้ทำให้ โรงพยาบาลต้องนำเข้าไปในบัญชียาทำให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ด้วย

ปัญหามีว่า...หากข้าราชการไม่ได้ใช้ยานั้นแล้ว ประชาชนก็จะไม่ได้ใช้เนื่องจากโรงพยาบาลนำออกจากบัญชียา พูดตรงๆก็คือ “ประชาชนรวมถึงคนไข้ทุกสิทธิต้องอาศัยใบบุญข้าราชการ จึงกระทบต่อประชาชนโดยตรง”

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงประชุมพร เห็นด้วยกับการชะลอและหาทางออกที่ดีกว่านี้ คิดว่าโรงพยาบาลจะสามารถทำกำไรจากยาชื่อสามัญ (Generic Name) เพียงสองปีแรก...หลังจากนั้นอาจจะมีการขยับราคาแน่นอนถือเป็น “กลไกการตลาด”...ระยะยาวไม่มีใครได้ประโยชน์ ยาต้นแบบ (original) ก็ไม่มีแล้ว

ท้ายที่สุด... “คนไข้” เดือดร้อน

พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ยืนยันว่า การใช้นโยบายนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากยังไม่ได้รับการหารือจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยไม่ได้แจ้งให้ข้าราชการได้ทราบโดยทั่วกัน

ที่ดำเนินการไปแล้ว ชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโดยมีมติที่ประชุมให้ชะลอการบังคับใช้อัตราเบิกจ่ายค่ายา เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ทั้งนั้นชมรมฯเห็นว่าปัญหาต้นเรื่องทั้งหมดอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจาก “ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามที่โรงพยาบาลจ่ายไปจริง” ซึ่งอยู่ในมาตรา 11 ข้อ 1 ของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2523

...เป็น “การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภทและอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด” ในมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับปี พ.ศ.2553

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือเป็นการลิดรอนสิทธิข้าราชการโดยตรง รัฐต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษาโรคของผู้สูงอายุ แทนที่จะส่งเสริมให้ข้าราชการผู้สูงอายุมีสวัสดิการที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโดยปกติผู้รับราชการก็ถือว่าได้รายได้จำกัดอยู่แล้ว

“สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังและเฝ้ารอก็คือเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับตนเองและครอบครัว การลิดรอนสิทธิส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการ...หากรัฐต้องการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ก็ควรใช้กับข้าราชการที่เข้าทำงานหลังจากปี พ.ศ.2553”

พลตรีหญิงพูลศรี ย้ำว่า ชมรมฯจะยังคงผลักดันให้มีการแก้ไขข้อความดังกล่าวใน พ.ร.ฎ.ปี พ.ศ.2553 ให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ปี 2523 เพราะทราบว่ายังคงมีมาตรการต่างๆที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมบัญชีกลางในการจำกัดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง”

คงเป็นเรื่องดี หากทุกนโยบายและทุกคำสั่งเกิดจากการหารือ...ไตร่ตรองจากทุกฝ่ายร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ.

ที่มา: http://www.thairath.co.th