ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ "เภสัชกร" อยู่ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดร้านยา แต่เภสัชกรไม่อยู่ประจำร้าน หรือรับสมัคร เภสัชกรแขวนป้ายร้านยา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณอย่างเต็มเปา แต่ก็ยังสามารถพบเห็นกรณี ดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง

"ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ"เภสัชกรประจำโรงพยาบาลสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ก็ยังยอมรับว่าเคยถูกชักชวนให้ไปเป็นเภสัชกรแขวนป้าย โดย ผู้มาขอ มักจะอ้างว่า "ให้ช่วยเหลือเภสัชกรด้วยกันเอง เพราะอย่างไรก็เพื่อนพี่น้องร่วมวิชาชีพ ร่วมสถาบัน คนกันเอง ทั้งนั้น"

หลากคำวิงวอน หลากคำกดดันสารพัด และความใกล้ชิดทางความสัมพันธ์นี่เอง เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ยอมหันหลังให้กับความถูกต้อง แล้วก้มหน้าให้ความช่วยเหลือกับพวกพ้องวิชาชีพเดียวกัน

อยากรู้ว่า แล้ว ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ได้ทำตาม คำร้องขอ ด้วยการกดดันแบบ "เพื่อศักดิ์ศรีของพวกพ้องบ้างหรือไม่?"

ภญ.ศิริพร ยืนยันอย่างหนักแน่นให้ทราบว่า ตนยังคงยึดมั่นในความซื่อสัตย์ของวิชาชีพ และปฏิเสธทุกครั้งที่มีคนชวนเธอไปเป็นเภสัชกรแขวนป้าย

"เมื่อเข้าสู่วงการวิชาชีพเภสัชกร ก็ได้รับทราบและได้ยินเรื่องราวการทวงถามความซื่อสัตย์จากเภสัชกรด้วยกันเอง โดยเฉพาะเรื่องการแขวนป้ายในร้านยา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการขอร้องตลอดให้ช่วยแขวนป้ายในร้านยา แต่ก็ยืนยันที่จะไม่ช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ภาคภูมิใจในตัวเองที่ทำงานอยู่บนความสัตย์ซื่อ ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะนับแต่ก้าวเข้าสู่วิชาชีพเภสัชกรเมื่อ 29 ปีที่แล้ว คือตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็ได้รับโอกาสและการหล่อหลอมที่ดีจากอาจารย์ รุ่นพี่และเพื่อน" ภญ.ศิริพร กล่าว

ไหนๆ "ปานมณี" ก็เกิดความประทับในจิตวิญญาณของ คุณหมอศิริพร ถึงอย่างนี้แล้ว เลยอยากนำเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ที่การันตีการทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตของเภสัชกร ดีเด่นเพื่อสังคม ของ ภญ.ศิริพร มาขยายความให้ทราบ อีกเรื่องคือ การต่อสู้กับการทุจริตการสั่งซื้อยา 1,400 ล้านบาท เมื่อช่วงปี 2540-2541 ที่มีการล็อกสเปกสั่งกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาล จนถึงเภสัชกรประจำโรงพยาบาลที่มีหน้าที่สั่งซื้อยาให้ซื้อยาตามรายการที่ระบุจากบริษัทที่กำหนด จนในที่สุดก็พ้นจากความแปดเปื้อนมาได้

"ช่วงนั้นทุกข์และเครียดมาก เพราะการต่อสู้ก็เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง แต่ก็ขอยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง และผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านี้ไปได้" ภญ.ศิริพร กล่าวนอกจากเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว การทำงานเพื่อสังคมและชุมชน ทั้งการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.ฉะเชิงเทรา การทำโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีการใช้ยา อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้วัดว่า "ภญ.ศิริพร" มีความดีและทรงคุณค่าพอกับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ซึ่ง ภญ.ศิริพร ยืนยันอย่างชัดเจนว่า เภสัชกรเป็นวิชาชีพ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ ต่างกันเพียงภารกิจและความชำนาญการในแต่ละสาขา

การที่จะยกระดับให้วิชาชีพเภสัชกรเป็นที่ยอมรับ และถูกเลิกมองในแง่ลบจากการรับจ้างแขวนป้ายร้านยานั้น ภญ.ศิริพร บอกว่า เภสัชกรต้องออกมานอกห้องยาและให้ยาแก่คนไข้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ดังกล่าวไม่ดี เป็นหน้าที่ที่ดีอยู่แล้วคือเป็นงานเชิงรับในโรงพยาบาล แต่อยากให้ทำงานในเชิงรุกคุ้มครองผู้บริโภคนอกโรงพยาบาลด้วย เป็นการทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะยังมีอีกหลายปัญหาของประชาชนที่รอการแก้ไขจากเภสัชกร และอยู่ในขอบข่ายที่เภสัชกรสามารถช่วยเหลือได้

"ปัจจุบันแม้จะมีเภสัชกรออกมาทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาในชุมชนมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอ เพราะส่วนใหญ่ ประชาชนยังมีทัศนคติว่าเจ็บป่วยเมื่อไรจะต้องใช้ยา ซึ่งความจริง แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาก็ได้ ซึ่งเภสัชกรมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยประเมินว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ ใช้แล้วเป็นผลดี หรือผลเสียมากกว่ากัน อีกเรื่องก็คือผลิตภัณฑ์สุขภาพและ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเภสัชกรมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถประเมินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และสารเคมีในชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ จึงอยากให้ออกจากห้องยามาทำงานตรงนี้ ก็จะช่วยให้เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่ประชาชนยอมรับมากขึ้น"

ที่สำคัญ ภญ.ศิริพร ยังย้ำว่า เภสัชกรต้องคิดทบทวน เสมอ เราทำงานเพื่อใคร ผลประโยชน์ของตนเอง ของวิชาชีพ หรือของประชาชนและสังคมโดยรวม ซึ่งการทำงานหากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคม แม้จะทำให้วิชาชีพและตัวเองเสียประโยชน์ไปบ้าง แต่ก็ยังดำเนินการต่อไปจนบรรลุผล หลักการนี้จะช่วยยกระดับวิชาชีพเภสัชกรขึ้นไปได้ในที่สุด

มีเรื่องดีๆ มาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้กันบ้าง ทำให้ รู้สึกว่า ประเทศไทย น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557