ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของเขตบริการสุขภาพที่ 11 เป็นการพัฒนาบริการในภาพรวม คือ พัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ โดยพัฒนาศักยภาพของศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองและโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลให้มีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุม พื้นที่บริการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ตลอดจนดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่ซับซ้อน การพัฒนาระดับทุติยภูมิ โดยเน้นพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60-120 เตียง เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน หรือควบคุมอาการของโรคไม่ได้ ลดภาระโรงพยาบาลขนาดใหญ่และช่วยเหลือโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เล็กกว่า

ส่วนการพัฒนาโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ คือ ระดับโรงพยาบาลศูนย์  ให้สามารถดูแลผู้ป่วยในเครือข่าย ที่อาการซับซ้อน ลดการส่งต่อที่ไม่จำเป็น และให้มีความร่วมมือและช่วยเหลือกันระหว่างโรงพยาบาลทุกระดับ แบบพี่ช่วยน้อง ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปนอกเครือข่าย โดยจัดแผนพัฒนาระบบความเชี่ยวชาญไว้ 12 สาขา รวม 13 กลุ่มโรค เช่นโรคมะเร็ง หัวใจ เน้นการพัฒนา ตามความต้องการสำคัญเร่งด่วนในแต่ละสาขาก่อน มีการ สนับสนุนทรัพยากรและกำหนดแผนการขับเคลื่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล(Quality of care) ลดอัตราตาย อัตราป่วย และพิการ และคุณภาพการบริการ (Quality of service) เช่น ลดระยะ เวลารอคอย ลดความแออัด คิวบริการสั้นลง

แผนการพัฒนาบริการสาขาต่างๆ เช่น สาขาโรคหัวใจ โดยการลดอัตราเสียชีวิตโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สาขาอุบัติเหตุ จะเพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ สาขาโรคมะเร็ง จะรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเฝ้าระวังและค้นหาความผิดปกติในเบื้องต้นด้วยตนเองได้ และการตรวจคัดกรอง สามารถ วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สาขาโรคไต จัดทำแนวทางการค้นหา วินิจฉัย รักษาโรคไตเรื้อรัง และสนับสนุนให้มีหน่วยฟอกไตในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป สาขาโรคตา เน้นการลดสาเหตุของตาบอดจากต้อกระจกและเบาหวานขึ้นจอตา ส่วนสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะมุ่งเน้นการจัดคลินิกบริการมีระบบการติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ สาขาปฐมภูมิ ทุติยภูมิและสุขภาพองค์รวมเน้นกระจายบริการผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลดความแออัดของโรงพยาบาลแม่ข่าย เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557