ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไทยโพสต์ - กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและเครือข่ายอื่นๆ เร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อไม่ให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ภายในปี 2558 และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2563 พร้อมมอบรางวัลแก่ อบต.และเทศบาล ที่มีผลการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น รวม 17 รางวัล

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม "การเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนอื่นๆ ปี 2557" และมอบรางวัลแก่ อบต. และเทศบาล ที่มีผลการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. ว่า ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นปัญหาในหลายประเทศรวมทั้งประประเทศไทย ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2556 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 130 ราย โดยแยกเป็นภาคกลาง 85 ราย ภาคใต้ 23 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 ราย และ ภาคเหนือ 5 ราย ตามลำดับ และมีผู้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือถูกสุนัขกัดประมาณปีละ 5 แสนคน ส่วนในปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย ใน 5 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สุนัขไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคนที่เสียชีวิตไม่ได้มาพบแพทย์หลังจากถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบทั้งคนและสัตว์ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและมีผู้เสียชีวิตทุกปี โดยแต่ละปีมีผู้ถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านบาท และยังทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในเขตชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศ ตั้งเป้าไม่ให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ภายใน 2558 และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2563 ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดเป้าหมายไว้ ซึ่งกรมควบคุมโรคจะเร่งรัดให้สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสถานบริการสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างระบบการติดตามผู้ถูกสุนัขกัดให้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกคน เพื่อไม่ให้มีผู้เสียชีวิต โดยใช้หลักการคือต้องติดตามผู้ถูกสนัขกัดทุกคนให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดย อสม.ร่วมกับท้องถิ่นติดตามให้ผู้ถูกสุนัขกัดไปพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนสำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ พบว่าจากการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ พบว่าจากการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ พบเชื้อ 110 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 21 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ โดยสัตว์ที่ส่งตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขร้อยละ 90.59 แมวร้อยละ 5.13 และ  โค กระบือร้อยละ 4.27 สำหรับกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเร่งรัดให้สำนักงานปศุสัตว์เขตและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจประชากรสุนัขของพื้นที่ การขึ้นทะเบียนสุนัข และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ให้ครอบคลุมทั้งสุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัด ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 โดยจะมีการรณรงค์ระหว่างเดือนมี.ค. - เม.ย.ของทุกปี พร้อมทั้งเร่งรัดการควบคุมประชากรสุนัขจรจัดทั้งในที่สาธารณะ วัด และแหล่งชุมชน ในโครงการวางแผนครอบครัวสุนัขล้านตัว ภายในปี 2558

ส่วนนายสิทธิชัย จินดาหลวง ผู้เชี่ยวชาญกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เร่งรัดและขอความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ให้จัดตั้งงบประมาณและจัดทำแผน  เพื่อเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยจัดระดับความเสี่ยงของพื้นที่เป็น 3 ระดับ คือ ระดับ A เป็นพื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในคนและในสัตว์ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ระดับ B พื้นที่ที่ไม่มีคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแต่ยังพบโรคในสัตว์ และระดับ C พื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าและพบโรคในสัตว์โดยผลการประเมินพื้นที่ในปี 2556 พบว่ามี 41 จังหวัด ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตและไม่มีสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังมีการมอบรางวัล MoPH.-MoAC. Rabies Awards ปี พ.ศ.2556 แก่หน่วยงานที่ปฏิบัติงานดีเด่นระดับ อบต.และเทศบาล ที่มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 17 รางวัล

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557