ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ศิริราชโชว์ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ต้องรอคิวนานจากรอรับปลูกถ่ายหัวใจ ลดโอกาสเสียชีวิตจากการใช้ยารักษาเกือบ 60% เผยทำหน้าที่ปั๊มเลือด อายุเครื่องใช้ได้นาน 10 ปี ชาร์จแบตแล้วเครื่องใช้ได้นาน 8-10 ชั่วโมง แต่ค่ารักษาสูง 11 ล้านบาท

วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช กล่าวในงานแถลงข่าว “ศิริราชผ่าตัดใส่หัวใจเทียมสำเร็จรายแรกของไทย” ว่า หากหัวใจหยุดทำงานคนเราก็จะเสียชีวิต แต่หากมีการเปลี่ยนหัวใจทันเวลาก็จะช่วยให้มีชีวิตต่อได้ แต่การนำหัวใจคนอื่นเข้ามาในร่างกาย จะต้องมีการกินยาต้านภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีโดยการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเข้าไปช่วยเหลือคนไข้ที่หัวใจไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดได้ ซึ่งถือการผ่าตัดครั้งแรกของไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
       
รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรง เป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตายขนาดใหญ่ หรือเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่นๆ รวมไปถึงโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติกที่ตีบ หรือรั่วรุนแรง ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ถึงร้อยละ 20 โดยพบร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ หลายโรค สำหรับอาการมีตั้งแต่บวมที่ขา เหนื่อยง่าย อ่อนแรงเวลาออกแรง อาการเหนื่อยเมื่อนอนราบสักพัก จนต้องลุกขึ้นมานั่งจึงจะดีขึ้น หรือหลับไปแล้วต้องลุกขึ้นมานั่งหอบเหนื่อยตอนกลางคืน หรือเหนื่อยง่ายแม้กระทั่งทำกิจวัตรประจำวัน
       
“การรักษาขึ้นกับความเหมาะสม ตั้งแต่การใช้ยา ซึ่งคนไข้จำนวนมากใช้แล้วได้ผลดี แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ใช้ไม่ได้ผล ซึ่งแพทย์จะทราบว่าเป็นระยะสุดท้าย ต้องรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น ทำบอลลูน ทำบายพาส หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบสองห้อง จนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งมีข้อจำกัด ที่เนื้อเยื่อผู้ให้จะต้องเข้ากันได้กับผู้รับ และใช้เวลารอนานกว่าจะได้รับอวัยวะ บางครั้งต้องรอจนเสียชีวิต แต่ขณะนี้ผู้ป่วยมีความหวังมากขึ้นด้วยการผ่าตัดใส่หัวใจเทียม แต่ไม่ได้เป็นการรักษาให้หายขาด เพียงแค่ชะลอ และผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพร่วมด้วย” รศ.นพ.ดำรัส กล่าว
       
ผศ.นพ.ปรัชญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ในฐานะผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมรายแรกของไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้ คือ นายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข ผู้ป่วยโรคหัวใจวายและล้มเหลวแบบเรื้อรัง อายุ 56 ปี ซึ่งจากการตรวจวินิจฉัยพบว่าไม่สามารถปลูกถ่ายหัวใจได้ เนื่องจากมีความดันปอดสูงมาก หากจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทั้งหัวใจและปอดซึ่งยากมาก จึงต้องทำการผ่าตัดหัวใจเทียมแทน เรียกว่า “การผ่าตัดใส่หัวใจเทียมฮาร์ทเมททู (Heartmate II) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 ซึ่งผลการผ่าตัดดีมาก โดยแพทย์ได้ทำการฝังหัวใจเทียมบริเวณใต้หัวใจเดิมตรงหน้าท้องส่วนบน โดยจะมีท่อต่อจากหัวใจเดิม เพื่อดูดเลือด และสูบฉีดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ผ่านหลอดเลือดเทียม สามารถทำงานแทนหัวใจเดิมและใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี โดยมีสายไฟทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจเทียม และเครื่องควบคุมซึ่งอยู่ภายนอกบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย ซึ่งเครื่องควบคุมจะต่อเข้ากับแบตเตอรี สามารถทำงานได้ 8-10 ชั่วโมง เมื่อชาร์จเต็มที่
       
ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าวว่า การรักษาวิธีนี้มีผลการศึกษาของทั่วโลกเทียบสถิติจากการใส่หัวใจเทียม และการใช้ยาในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย พบว่าการใช้ยามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 92 การใส่หัวใจเทียมนี้มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 40 ซึ่งพบว่าโอกาสรอดเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 60 ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวจะต้องติดตัวคนไข้ไปตลอด โดยตัวแบตเตอรีจะอยู่ข้างนอก ซึ่งหลายคนอาจมองว่าจะมีปัญหาในการดำเนินชีวิต แต่จริงๆ แล้วถือว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้โอกาสรอดสูง แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาในการอาบน้ำ แต่อนาคตจะพัฒนาที่ครอบแบตเตอรีให้ป้องกันน้ำได้ ส่วนการชาร์จจะมีเครื่องใหญ่สำหรับชาร์จเข้าเครื่องที่ติดกับลำตัวอีกที
       
“ปัจจุบันทั่วโลกมีการใส่หัวใจเทียมลักษณะนี้กว่า 10,000 ราย เพื่อทำงานแทนหัวใจเดิม แต่ไทยถือเป็นรายแรก อย่างไรก็ตาม ปกติผู้ป่วยที่สามารถผ่าตัดหัวใจเทียม จะทำในระหว่างรอการผ่าตัดหัวใจจากผู้บริจาคก่อน หรือกลุ่มอายุมากตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเปลี่ยนหัวใจเทียมได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดวิธีนี้ได้ คือ กลุ่มที่มีหัวใจล้มเหลวทั้งสองห้อง และกลุ่มหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ร่วมกับมีภาวะช็อก ซึ่งต้องใส่เครื่องพยุงหัวใจแทน ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวยังมีราคาแพงด้วย โดยเฉพาะการรักษา เครื่องมือในการผ่าตัดในโรงพยาบาลสูงถึง 11 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องมือแบตเตอรีที่คนไข้นำกลับบ้านจะอยู่ที่ 7 ล้านบาท ถือเป็นอีกวิธีที่เพิ่มศักยภาพของการแพทย์ไทยได้อย่างดี” ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าว
       
นายวีระกิตติ์ กล่าวว่า ป่วยเป็นโรคนี้มานาน โดยปกติจะกินยาและพบแพทย์ 3 เดือนครั้ง แต่ช่วงหลังต้องเข้ารับการรักษาแทบสัปดาห์ละครั้ง เพราะมีอาการเหนื่อย น้ำท่วมปอดและหูอื้อ คิดกับภรรยาว่าอาจถึงเวลาที่แพทย์บอกว่าต้องผ่าตัด แต่ตนไม่สามารถเปลี่ยนหัวใจได้ จึงบอกภรรยาว่าเป็นไงเป็นกัน ตายก็ตาย แต่เมื่อแพทย์เสนอการใส่หัวใจเทียมก็ตัดสินใจจะทำ แม้ว่าจะเป็นรายแรกของไทย ซึ่งภรรยายังบอกว่าตอนที่ตนเข้ารับการผ่าตัดกังวลมาก ใช้เวลา 10 ชั่วโมง แต่หลังผ่าตัดใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง ตอนนี้รู้สึกดีขึ้น ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ช่วยเหลือตัวเองได้จากที่เดินไปมาในบ้านแทบไม่ไหวสามารถเดินได้ และตั้งแต่รับการผ่าตัดยังไม่มีอาการของน้ำท่วมปอด