ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ติวเข้มผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค อาหารปลอดภัยและควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทีมเพื่อควบคุมอาหารปลอดภัยของไทยตามแนวทางสากลเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ป้องกันปัญหาการเจ็บป่วยประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสอบสวนโรคที่เกิดจากอาหารโดยเฉพาะทุกจังหวัด เริ่มปีนี้จังหวัดละ 1 ทีม ผลการเฝ้าระวังในปี 2556 พบแหล่งผลิตอาหารตกเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยเกือบร้อยละ 20 ส่วนการปนเปื้อนในอาหารยังพบร้อยละ 4

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวหลังเป็นประธานการเปิดอบรมเจ้าหน้าที่อาหารปลอดภัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 200 คน ที่โรงแรม อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อพัฒนาระบบบูรณาการคุณภาพงานอาหารปลอดภัยของจังหวัด (Food Safety Quality System) คุ้มครองสุขภาพประชาชน ในปี 2557 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดเรื่องอาหารปลอดภัยในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการป่วย การเสียชีวิตและผลกระทบที่เกิดจากเชื้อโรคและสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งมีทั้งโรคที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงที่พบปีละกว่า 1 ล้านคน และโรคที่เกิดในระยะยาว สะสมพิษในร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายห้ามใช้ ผู้บริโภคอาจไม่รู้ตัว เช่น โรคมะเร็งต่างๆ

นายแพทย์ทรงยศกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำหลักเกณฑ์คุณภาพระบบงานอาหารปลอดภัยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร ให้สอดคล้องกับระบบสากลและกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR, 2005) ด้านอาหารปลอดภัย โดยเน้น 4 ระบบ คือ ระบบนโยบายและบริหารจัดการ ระบบป้องกันสร้างความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนผลิตเพื่อลดความเสี่ยง ระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงตามบริบทของพื้นที่ (Risk based surveillance) และระบบตอบโต้ เมื่อมีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยฉุกเฉินหรือมีคนป่วยจากอาหาร มีการจัดตั้งทีมสอบสวนควบคุมโรคและภัยที่เกิดจากอาหารเคลื่อนที่เร็วประจำจังหวัดทุกจังหวัด หรือ เอฟเอสอาร์อาร์ที (Food Safety Rapid Response Team : FSRRT) ซึ่งถือว่าเป็นทีมเฉพาะกิจด้านนี้โดยเฉพาะจะเริ่มต้นปีนี้จังหวัดละ 1 ทีมก่อน นับเป็นการดำเนินการครั้งแรกของไทยเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน ทำให้สามารถควบคุมป้องกันปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายแพทย์ทรงยศกล่าวว่า ในการพัฒนาสร้างความปลอดภัยอาหารครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยพัฒนาให้มียุทธศาสตร์อาหารบูรณาการเพื่อสุขภาพแห่งชาติ จัดทำแผนรับมือความปลอดภัยด้านอาหาร (National Food Safety Emergency Response plans) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกระทรวงเกษตร ฯ กระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายเพื่อขับเคลื่อนผ่านเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต นำไปสู่การปฏิบัติทุกจังหวัดไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีรถตรวจคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ ออกตรวจสารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารกันรา และยากำจัดศัตรูพืช อย่างต่อเนื่อง และสาวถึงต้นตอแหล่งผลิต เพื่อปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานปลอดภัย

ทางด้าน นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กล่าวว่า ในการตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหาร จะมุ่งเน้นใน 2 ส่วนคือ 1.มาตรฐานสถานที่ผลิตอาหารและจำหน่ายอาหาร อาทิ แปลงเพาะปลูก ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานผลิตอาหาร ตลาดค้าส่ง ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร แผงลอย โรงครัวในโรงพยาบาล/ศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียน เนื่องจากถือเป็นต้นน้ำของการสร้างความปลอดภัย ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 ได้ตรวจทั้งหมด 267,530 แห่ง พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 88

ส่วนที่ 2 คือตรวจการปนเปื้อนอาหารทั้งอาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารปรุงสุกพร้อมบริโภค ณ สถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร โดยเน้นการเฝ้าระวัง อาหารในโรงเรียน /หน้าโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการปนเปื้อนที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาหารหน้าโรงเรียนที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ สารกันบูด สารกันรา สารฟอกขาว สารบอแร็กซ์ และวัตถุเจือปนที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง จากการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร 866,710 ตัวอย่าง ผลพบเกินค่าความปลอดภัย 36,563 ตัวอย่างหรือร้อยละ 4 และการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่พบปัญหามากที่สุดคือ ภาชนะใส่อาหาร ผู้สัมผัสอาหารไม่ล้างมือ และ ในอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภค