ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเตือนอย่านำเด็กไปในพื้นที่ชุมนุม เหตุยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระบุทางออกของความสูญเสียคือต้องยอมรับความเป็นจริง และสังคมต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กด้วย       

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีมีเด็กเสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการนำเด็กไปร่วมชุมนุม หรือเข้าไปในบริเวณที่มีการชุมนุม เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรเมื่อใด ทำให้ความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบมีมากขึ้น และที่จริงแล้วถือเป็นหลักพื้นฐานของการเอาตัวรอด ที่เมื่ออยู่คนเดียวก็เอาตัวรอดได้ดี แต่ถ้ามีเด็กอยู่ด้วยยิ่งมากก็จะยิ่งดูแลได้ยาก โดยเฉพาะถ้าเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ก็จะไม่เข้าใจทิศทางการหลบหลีกเหมือนผู้ใหญ่ และเด็กก็หวังพึ่งเพียงผู้ใหญ่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามจากกรณีที่มีเด็กเสียชีวิตอาจทำให้เกิดความเศร้าสลดในสังคม เพราะทุคนมีความรู้สึกร่วมกัน โดยเฉพาะพ่อแม่และคนในครอบครัวที่มาร่วมด้วย หรือข่าวแบบนี้ก็จะสะเทือนใจมากแม้แต่คนที่ไม่มีลูกก็ยังสะเทือนใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เวลากับความรู้สึกของความสูญเสียซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามภาวะปกติ เพื่อให้จิตใจค่อยๆ ฟื้นตัว
       
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทางออกที่ดีสำหรับความสูญเสียคือ การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและยอมรับความเป็นจริง ซึ่งก็จะเข้าสู่กระบวนการการสูญเสียและเสียใจ ที่จะมีความโกรธ หดหู่ และเกิดความท้อแท้ ใน 3 อารมณ์ที่มักมาร่วมกันเสมอ โดยความเสียใจจะคลายลงตามระยะเวลา และที่สุดก็จะมีการยอมรับถึงความเป็นจริงว่าในสังคมมีความรุนแรงถึงขั้นที่เด็กต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการการยอมรับได้แล้ว ทุกคนก็ต้องมาหารือร่วมกันอย่างจริงจังว่าการนำเด็กเข้ามาร่วมชุมนุมหรือทำรุนแรงกับเด็กนั้น สังคมต้องออกมาตระหนักร่วมกันถึงความปลอดภัยของเด็ก ว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับวิถีชีวิตและเกิดการเรียนรู้ว่าหากมีการชุมนุมว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร