ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - "มะเร็ง" ยังน่ากลัวสำหรับทุกคน ... แม้ว่าจะค้นพบการเป็นมานาน แต่ก็ยังรู้จักโรคนี้ได้น้อยมาก ทำให้ยากต่อการรักษาให้หายขาด

          ปัจจุบันหลักพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็ง ก็คือการค้นหาความแตกต่างระหว่างเซลล์มะเร็งกับเซลล์ปกติ และนำความแตกต่างนั้น ๆ มาเป็นเป้าหมายในการรักษา

          ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย "การศึกษาฤทธิ์ของไซคลิน ดี ฏช ซีดีเค 4 (cyclin D1-CDK4) ในกระบวนการตอบสนองหลังจากการเกิดการทำลายของดีเอ็นเอ" บอกว่า เป้าหมายการรักษามะเร็งที่จะใช้ในการรักษาให้ได้ผลดี ควรจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทหลักหรือทำหน้าที่หลากหลายในการก่อมะเร็ง

          มีการศึกษาพบว่า โปรตีนในเซลล์ร่างกายมนุษย์ที่ชื่อ "ไซคลิน ดี 1" มีส่วนในการก่อมะเร็งมากกว่าครึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด พบมากในมะเร็งเต้านมและต่อมน้ำเหลือง

          แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าโปรตีนนี้ก่อมะเร็งอย่างไร...ทีมวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันมะเร็งดานา-ฟาเบอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงตั้งโครงการศึกษาวิจัยบทบาทของโปรตีนดังกล่าวในการก่อมะเร็งเชิงลึกขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่การค้นคว้าพัฒนายาในอนาคต

          ดร.ศิวนนท์ บอกว่า จากการวิจัยพบว่า ไซคลิน ดี 1 ที่อยู่ในเซลล์ปกติจะช่วยใน การเติบโตของเซลล์ในร่างกาย แต่หากพบในเซลล์มะเร็ง จะช่วยเสริมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและเสริมการซ่อมแซมดีเอ็นเอ เซลล์ มะเร็งที่เสียหายจากการรักษา หรือทำให้ดื้อยานั่นเอง

          ดังนั้น หากมีการทำลายโปรตีนนี้จากเซลล์มะเร็งจะทำให้มะเร็งหยุดการเติบโต และตอบสนองต่อการรักษาแบบฉายแสงหรือด้วยยาเคมีบำบัดได้ดีขึ้น

          ขณะเดียวกันก็มีผลการวิจัยที่สอดคล้องจากแล็บทั่วโลกว่า โปรตีน ไซคลิน  ดี 1 รวมถึง ซีดีเค 4 ที่เริ่มใช้เป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็งแบบเจาะจงในปัจจุบัน แทบไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้ป่วยมากนัก โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่

          นักวิจัยบอกว่า นี่คือครั้งแรกของการ ค้นพบการทำงานในลักษณะดังกล่าวของโปรตีน ไซคลิน ดี 1 และได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลก รวมถึงได้รับการตีพิมพ์ใน "Nature" วารสารวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของโลก

          แม้จะเป็นการวิจัยพื้นฐาน แต่โครงการนี้ได้สร้างและพิสูจน์ให้เห็นถึงกลไกการทำงานของไซคลิน ดี 1 ในการก่อมะเร็งอย่างละเอียด ทำให้สามารถต่อยอดนำไป ออกแบบสูตรการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่ได้ผล และลดอันตรายจากผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม ที่ทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ดีไปด้วย

          ปัจจุบันมีการตื่นตัวของแนวคิดในการรักษามะเร็งโดยใช้ไซคลิน ดี 1 เป็นเป้าหมายและมีบริษัทยาหลายแห่งสนใจและเปิดแผนกวิจัยที่เน้นการรักษาที่เจาะจงกับโปรตีนดังกล่าว

          สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ดร.ศิวนนท์ บอกว่า นอกจากจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับ นักวิจัยทั่วโลกแล้ว ทางทีมวิจัยยังได้ต่อยอดพัฒนาวิธีการยับยั้งการทำงานของโปรตีน ไซคลิน ดี 1

          ...เพื่อสร้างยาที่โจมตีโปรตีนชนิดนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ถือเป็นโครงการอนาคต เพราะการพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่ ๆ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

          ต้องถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนไทย ที่เดิมเป็นแต่เพียงผู้ใช้เทคโนโลยี แต่วันนี้ได้มีการตื่นตัวและพร้อมที่จะสร้างผลงานในระดับโลกด้วยตัวเอง .

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--