ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวสด - ท่ามกลางปมขัดแย้งของบ้านเมืองที่นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตของเด็กที่ไร้เดียงสา พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าววิงวอน ข้อแรกขอให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือยั่วยุคือผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำร้ายและทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ ขอได้หยุดการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี

การนำเด็กไปเข้าร่วมชุมนุมเป็นการนำเด็กเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีบรรยากาศของการใช้เสียง วาจา สีหน้าที่สื่อถึงความเกลียดชัง เด็กต่ำกว่า 7 ขวบ ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ดี แม้แต่เด็กอายุ 12-13 ปี ก็ยังขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์คัดกรอง ดังนั้นเด็กมีสิทธิ์ รับ "สาร" ของการจงเกลียดจงชัง การจ้องทำลายล้าง ฯลฯ และ "สาร" นั้นย่อมมีผลต่อวิธีคิด บุคลิกภาพของเด็กต่อไป สถาบันจึงขอวิงวอนข้อที่สอง ไม่พาเด็กเข้าร่วมหรือไปอยู่ในสถานที่ใกล้การชุมนุมทางการเมืองเด็ดขาด

ในด้านสิทธิเด็ก ประเทศไทยของเรายอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กที่สหประชาชาติต้องการให้ทั่วโลกได้รู้และปกป้อง เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นเด็กทุกคน ได้แก่ สิทธิในการมีชีวิตรอด สิทธิในการได้รับการพัฒนาความสามารถและการเรียนรู้ สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายทุกรูปแบบ สิทธิการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

เด็กต้องได้รับปกป้องจากความขัดแย้งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สังคม ศาสนา เด็กต้องถูกกันออกจากความขัดแย้งทุกรูปแบบ ไม่นำเด็กไปใช้ในประเด็นทางการเมืองหรือเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะตึงเครียดและขัดแย้งอย่างไรก็ไม่ใช่เงื่อนไขการกระทำใดๆ ที่จะละเมิดสิทธิเด็ก

"ข้อวิงวอนข้อ 3 ขอให้ทุกคนในสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมด้วยช่วยกันปกป้องสิทธิเด็ก คุ้มครองเด็กให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอันตรายทางร่างกายหรืออันตรายทางจิตใจที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ที่ปฏิบัติได้โดยง่ายคือไม่พาเด็กไปร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม" พญ.ศิราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "ผลกระทบด้านอารมณ์และจิตใจต่อเด็กในสถานการณ์ความรุนแรงที่มีการชุมนุมทางด้านการเมือง" ว่าเด็กแตกต่างกับผู้ใหญ่ในการมีส่วนร่วมรับรู้ข่าวสารด้านการชุมนุม การเข้าร่วมชุมนุมของผู้ใหญ่เป็นการแสดงถึงความเป็นพลเมือง แต่ในส่วนของเด็กการรับรู้เรื่องนี้ย่อมมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งธรรมชาติของความขัดแย้ง และคำพูดที่ใช้ปราศรัยโจมตีกัน เด็กจะไม่ค่อยรับรู้เนื้อหา แต่จะรับรู้และซึมซับมากเรื่องความรุนแรงทั้งจากคำพูดและกิริยาท่าทาง

"หากปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เด็กจะยิ่งรับไปเต็มๆ เมื่อเห็นต้นแบบก็จะเกิดความชินชาและลดความยับยั้งชั่งใจ จึงควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในพื้นที่ความขัดแย้ง หากต้องการพาเด็กไปเรียนรู้บทบาทการเป็นพลเมืองควรพาเด็กไปทำกิจกรรมสาธารณะ งานอาสาสมัคร หรือกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ"

ด้าน น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออย่านำเด็กเข้าร่วมการชุมนุม

"การนำเด็กเข้าร่วมชุมนุมทำให้พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติตามช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ ไม่ควรเข้าไปชุมนุมเด็ดขาด เพราะเมื่อพ่อแม่เข้าร่วมชุมนุม สติสัมปชัญญะจะอยู่ที่เวที โอกาสที่เด็กจะรอดหูรอดตานั้นสูงมาก เสี่ยงต่อการพลัดหลง นอกจากนี้ยังจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงจากเนื้อหาการปราศรัย และไม่ควรนำเด็กมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรพูดคุยกันมากกว่า"

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod