ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พนักงานมหาลัยหนุนสปสช.ผลักดันกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลเท่าเทียมทั่วประเทศ ใช้โมเดลกองทุนค่ารักษาอปท.เป็นต้นแบบ

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ 

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ(CHES) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่ศูนย์ประสานงานฯได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขครั้งล่าสุดเพื่อขอให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้โมเดลกองทุนสวัสดิการของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)กับพนักงานมหาวิทยาลัยแสนกว่าคน โดยขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากระบบกองทุนที่มหาวิทยาลัยจัดให้โดยความสมัครใจนั้น  ศูนย์ประสานงานฯ ได้ระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา พบว่ายังสนับสนุนให้ สปสช. ดำเนินการสานต่อ

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษากว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ มีพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เข้ามาทดแทนอัตราข้าราชการสัดส่วนมากกว่า 70% โดยจำนวนข้าราชการประมาณ 30% ที่ใช้กองทุนสวัสดิการของราชการกำลังลดลงไปเรื่อยๆ คาดว่าอีก 10 ปีจะมีแต่อัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยเกือบ 100% ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดการกองทุนสวัสดิการแตกต่างกันไป ทำให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต แม้พนักงานมหาวิทยาลัยจะเข้าไปใช้สิทธิ์ประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้เข้าไปทั้งหมด บางส่วนก็ซื้อประกันชีวิตเอง หรือลงทุนในกองทุนอื่นๆ

“แม้ประกันสังคมจะมีบำนาญให้ แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบอนาคตข้างหน้า 20 ปี ค่าเงินจะลดลงมาก และในส่วนตัวยังสนับสนุนให้ สปสช.รับโอนสิทธิการรักษาพยาบาลไปจาก สปส. ซึ่ง สปสช. และ สปส.ก็ได้เคยหารือเรื่องนี้หลายครั้ง ในส่วนการทำประกันชีวิตกับเอกชนก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จาก บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ของประเทศ ได้แจ้งยกเลิกสัญญาดื้อๆกับลูกค้า ด้วยเหตุผลไม่ต้องการรับความเสี่ยง ในกรณีที่มีการเรียกร้องสินไหมทดแทนเกินมาตรฐานในภาวะเจ็บป่วยรุนแรง” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า จำนวนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษากำลังลดลงเรื่อยๆ เงินเดือนอาจน้อยกว่าพนักงานมหาวิทยาลัย แต่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลของระบบราชการที่มั่นคงกว่า และส่วนตนสนับสนุนให้ สปสช. เข้ามาดำเนินการให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศคล้ายกับ อปท. ในลักษณะตามความสมัครใจ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยมีความมั่นคงด้านฐานเงินเดือนสูงกว่าเกณฑ์ปกติ 1.5-1.7 เท่า และคิดว่า สปสช. จะบริหารจัดการไม่ยาก

ด้าน รศ.น.สพ.ดร.วรวุฒิ ฤกษ์อำนวยโชค คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในคณะเทคนิคการสัตวแพทย์มีบุคลากรสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเกือบ 100% และมหาวิทยาลัยได้จัดกองทุนสวัสดิการให้อยู่แล้ว แต่อาจแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ กองทุนสวัสดิการเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่อัตราเงินสะสมหรือเงินสมทบนั้น ขึ้นกับแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด เช่นของหน่วยงานใช้ 3% เพื่อจัดสวัสดิการให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย และแต่ละแห่งควรมีการประเมินผลการดำเนินการ หากผลการดำเนินการดีก็อาจเพิ่มสัดส่วนให้สูงกว่า 3% ก็ได้ หรือนำผลการพิจราณาเลื่อนเงินเดือนประจำปีมาสัมพันธ์กับเงินสมทบ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่พนักงานมหาวิทยาลัย และเห็นด้วย หากมีส่วนกลางโดยภาครัฐรับเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้เหมือนกันทั้งประเทศ